ชี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ปัจจัยลบยังมากกว่าบวก/แนะรัฐสร้างเชื่อมั่นดึงเอกชนลงทุนตาม

19 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
นักเศรษฐศาสตร์เชียร์รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่น-ลงทุนภาครัฐให้เอกชนตาม แนะส่งออกไทยรักษาฐาน CLMV-ASEAN ชี้เหตุ 3-6 เดือนข้างหน้าปัจจัยลบมากกว่าบวก-อาจฉุดคาดการณ์จีดีพี ชี้เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน "โลก-ญี่ปุ่น-จีน"ฟันธงค่าเงิน-ราคาโภคภัณฑ์ยังผันผวน

[caption id="attachment_32111" align="aligncenter" width="360"] รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่ง มัลลิกะมาส
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย[/caption]

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8% เทียบกับระยะเดียวกับปีก่อน และทั้งปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8% ถือว่าภาพรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด( 3 ก.พ.59)

ทั้งนี้ กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่คงต้องติดตามแนวโน้มการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะต่อไป รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก

สอดรับกับดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปัจจัยบวก โดยต้องติดตาม 3 ปัจจัยคือ 1.การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 16 มีนาคม 2559 นี้ กรณีเฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งสัญญาณออกมาอย่างไร ขณะเดียวกันขณะนี้สหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างเจรจาถอนตัวออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู)โดยขอสิทธิให้มีการกำหนดจำนวนผู้อพยพจากอียู ถ้าอังกฤษยังคงสมาชิกภาพ หรือเลือกจะให้เงินสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งจะมีการประชามติภายในเดือนมิถุนายนปีนี้จึงอาจเป็นประเด็นขึ้นมาอีก

2. ราคาน้ำมันที่สะท้อนแนวโน้มตกต่ำ ซึ่งต้องติดตามความพยายามเจรจาที่จะลดกำลังการผลิตเพื่อให้ราคาปรับเพิ่มเนื่องจากปัจจุบันยังคงมีกำลังผลิตส่วนเกิน 2ล้านบาเรล/วันขณะที่ทีเอ็มบีคาดปลายเดือนมีนาคมมีโอกาสจะเห็นราคาน้ำมันอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล

3. เศรษฐกิจจีนแม้ไม่เกิดวิกฤติแต่มีโอกาสชะลอต่อเนื่องซึ่งกดดันราคาโภคภัณฑ์และภาคการผลิตโดยเชื่อว่าปลายเดือนมีนาคมนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.35% และปีนี้มีโอกาสที่จีนจะลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงอีก 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 17.5% ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าหลังตรุษจีนเชื่อว่า PBOC จะทำให้หยวนมีเสถียรภาพมากขึ้นแม้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่า

ส่วนญี่ปุ่นเศรษฐกิจยังคงหดตัวสะท้อนนโยบายคิวอีไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจแม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นพยายามจะลดดอกเบี้ยจูงใจนักลงทุน ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นเงินเยนอ่อนค่าคงไม่มากซึ่งส่งผลสกุลเงินภูมิภาคเอเชียมีมูลค่าขณะที่เงินบาทยังแข็งค่าจากที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง ทั้งนี้แนวโน้มมีโอกาสเห็น Yen Carry Tradeไปลงทุนในสหรัฐในปีนี้

"แนวโน้ม 3-6 เดือนข้างหน้าบนเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบมากกว่าบวก สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำต่อคือ สร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้เอกชนลงทุนตามโครงการภาครัฐซึ่งจะช่วยดึงการบริโภคภายใน และภาคการส่งออกต้องรักษาฐานตลาดอาเซียนและ CLMV ทั้งนี้เพื่อประคองส่งออกไม่ย่ำแย่ เพราะถ้าส่งออก/นำเข้ายังแย่อาจจะทำให้การคาดการณ์จีดีพีปรับลดลงอีก"

เช่นเดียวกับดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจของหลายประเทศย่อมส่งผลต่อความผันผวนตลาดเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยรัฐบาลไทยต้องติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อที่จะหาสร้างแรงต้านทานปัญหาในอนาคต ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน โดยในส่วนของตลาดเงินนั้นเข้าใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อยู่ในช่วงติดตามความเคลื่อนไหวของเงินบาท เพราะแนวคิดเงินบาทไม่จำเป็นต้องแข็งในช่วงนี้ ทั้งนี้ทิศทางบาทควรจะอ่อนค่าเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้ของภาคส่งออกไทย

"ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของธปท. สะท้อนการใช้จ่ายดีและแข็งแรง แต่ด้านภาคการผลิตยังอ่อนแออยู่ แต่ผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติ/ยอดใช้จ่ายเมื่อปลายปีจะเหลื่อมมาอยู่ไตรมาส 1/59 ซึ่งจริง ๆ ถ้ารวมตรงนี้ไตรมาส 4/58 ของสศช.น่าจะมากกว่า 2.8% แต่ครึ่งปีแรกเป็นช่วงของการดำเนินการซึ่งกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า รัฐบาลเองพยายามเต็มที่ทั้งผลักดันเบิกจ่ายหรือลงทุน ดังนั้นครึ่งปีน่าจะเห็นภาพรวมชัดขึ้นทั้งเศรษฐกิจโลก, รัฐบาลไทยออกมาตรการต่าง ๆ พอควรแต่ทำได้เร็วเพียงพอหรือไม่ และความผันผวนทุเลาหรือไม่ เหล่านี้ต้องติดตาม"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559