การเงินอิสลาม อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

19 ก.ย. 2561 | 04:45 น.
ตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา การเงินอิสลามได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศผู้ค้านํ้ามันมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากระดับราคานํ้ามันที่ได้ทะยานสูงขึ้น (ก่อนจะเกิดวิกฤติราคานํ้ามันตก ตํ่าเมื่อกลางปี 2557 แต่ได้ปรับตัวขึ้นมากในปัจจุบัน) เกิดเป็นความเฟื่องฟูของปิโตรดอลลาร์ที่ได้สร้างอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักชาริอะห์จำนวนมาก กล่าวคือกระแสการเงินอิสลามไม่ได้ขยายตัวเฉพาะในโลกมุสลิมเท่านั้น หากยังขยายตัวไปสู่ตลาดการเงินทั่วไป (conventional finance) ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน สินทรัพย์ในอุตสาหกรรมการเงินอิสลามมีขนาดประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ยังนับว่ามีขนาดเล็กมาก คือเพียงประมาณ 1% ของขนาดการเงินโลก โดยการเงินอิสลามที่มีสัดส่วนมากที่สุดนับตามขนาดสินทรัพย์ คือการธนาคารประมาณ 80% ตาม ด้วยศุกูก (ตราสารที่สอดคล้องกับการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม) 15% และที่เหลือเป็น กองทุนอิสลามและตะกาฟุล (การประกันภัยอิสลาม) ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเริ่มที่จะเปิดช่องทางบริการด้านการเงินอิสลามมากขึ้น รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญต่อการออกศุกูกมากขึ้นเช่นกัน โดยมุ่งหวังที่ จะดึงดูดเงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุนที่ยึดตามหลักชาริอะห์

กระนั้นวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2551 ก็ได้ส่งผลกระทบไปยังระบบการเงินทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกในที่สุด ไม่เว้นแม้กับระบบการเงินอิสลาม แต่การที่ธนาคารอิสลามมีการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงค่อนข้างน้อย ผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์ที่ธนาคารอิสลามได้รับจึงตํ่ากว่าธนาคารทั่วไป

TP7-3402-A

แนวคิดเกี่ยวกับการเงินอิสลามในประเทศไทยได้เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อรัฐบาลไทยลงนามในโครงการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในปี 2537 ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศ ไทย ซึ่งถือเป็นธนาคารอิสลามเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศขึ้นในปี 2546

หลังจากนั้นในปี 2547 ได้มีการซื้อขายกองทุนอิสลามในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และในปี 2552 ก็ได้มีการจัดทำ FTSE SET Shariah Index ขึ้น เพื่อเป็นการคัดกรองหุ้นที่อยู่ในกรอบของชาริอะห์เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศมุสลิมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามหลักชาริอะห์ อาทิ ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ยาสูบ สุกร ซึ่งไม่เป็นอาหารฮาลาล การบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นกาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ สื่อลามก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือ จำหน่ายอาวุธ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การเงินอิสลามในประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นมาก และมีการพัฒนาอย่างช้าๆ เนื่องจากระบบการ เงินอิสลามของประเทศไทยยังคงมีจุดอ่อนและอุปสรรคจำนวนมาก อาทิ กฎระเบียบและระบบภาษีที่ไม่เอื้ออำนวยให้การเงินอิสลามสามารถแข่งขันกับระบบการเงินทั่วไปได้ การขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และความชำนาญ ส่งผลให้การพัฒนาของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลามยังค่อนข้างจำกัด

แต่โอกาสในการขยายตัวของการเงินอิสลามในประเทศไทยก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคจากพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการเงินอิสลามยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและห่างไกลจากจุด อิ่มตัวของวัฏจักร ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยหากประเทศไทยสามารถผลักดันตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้บุกเบิกทางการเงินอิสลามของภูมิภาคได้

ด้วยจุดอ่อนที่สำคัญคือด้านกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงระบบภาษีที่ทำให้ธุรกรรมทางการเงินอิสลามมีความเสียเปรียบระบบการเงินทั่วไป เป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถจะเปลี่ยน แปลงได้ โดยดำเนินนโยบาย แบบเชิงรุกในการพัฒนาตลาดการเงินอิสลาม กล่าวคือ เปิดให้มีการแข่งขันในระบบการเงินอิสลามมากขึ้น การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญทางด้านการเงินอิสลาม การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรที่สำคัญของการเงินอิสลาม อาทิ The Islamic Financial Services Board (IFSB) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อนาคตของการเงินอิสลามไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ผู้วางนโยบายและผู้ออกกฎทางด้านการเงินการคลัง แต่ยังขึ้นอยู่กับประชาชนทั้งชาวมุสลิมและไม่ใช่ชาวมุสลิมด้วย อุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับชาริอะห์จะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในหลักคิดของการเงินอิสลาม และสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้อย่างดีพอ

กล่าวโดยสรุป ภาคการเงินไทยคงไม่สามารถที่จะขยับชั้นไปสู่ศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคได้ เนื่องจากเราไม่มีการเปิดเสรีทางการเงินดังเช่นประเทศสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันตลาดทางการเงินอิสลามภายในประเทศก็มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

แต่สิ่งที่ประเทศไทยไม่ควรจะพลาดในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็คือการเข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งของการขยายตัวของการเงินอิสลาม ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในเวทีอุตสาหกรรมการเงินระหว่างประเทศ โดยอาศัยกลยุทธ์เชิงรุกมากกว่าเชิงรับดังเช่นที่ผ่านมา

……………………………………………………………….

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ |โดย ผศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3402 ระหว่างวันที่ 20 - 22 กันยายน 2561

23626556