เอกชนภาคเหนือตอนล่าง ชงรัฐบาลจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลไม้

17 ก.ย. 2561 | 11:24 น.
 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมหารือภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 จ.เพชรบูรณ์ เสนอรัฐบาลช่วยผลักดัน 3 ประเด็นหลัก จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลไม้ พัฒนาองค์วามรู้เอสเอมอี และสนับสนุนให้กลุ่มจังหวัดเป็นคลัสเตอร์ยางพารา

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 จังหวัดเพชรบูรณ์  พร้อมหารือภาครัฐ เอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน รวมทั้งเสนอมาตรการ เครื่องมือที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบ และใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ITC การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ ของ Sme Devolopment Bank เป็นต้น

โดยการประชุมหารือในวันที่17 ก.ย. 2561 กระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากภาคเอกชนใน 3 ประเด็น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ 1. การจัดตั้งศูนย์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไม้ผลและพืชผักเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง 1  เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการรับรองมาตรฐานของผลไม้ (Premium Fruit) และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง พร้อมทั้งจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ผลไม้ และพืชผัก พัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจากผลไม้และพืชผัก บริการเครื่องมือแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์ 180917_0008

รวมทั้งบริการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง โดยกระทรวงฯ สามารถที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวฯ ด้วยเครื่องมือจากศูนย์ ITC พร้อมช่วยพัฒนา GMP CODEX (มาตรฐานอาหารปลอดภัย) ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และยังสามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้านอาหาร ตลอดจนการเชื่อมโยงกับสถาบันอาหารในการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร และพัฒนา Future Food ได้อีกด้วย

2.การก่อตั้งศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน SME โดยใช้ชื่อว่า “Sabai Dee Excellent Center for Local Development” เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตรและขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาดและส่งเสริมสินค้าเกษตร เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ โดยใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (พื้นที่ 2.9ไร่)

โดยมีกิจกรรมหลัก คือ จัดตั้ง 1)ศูนย์สารสนเทศเพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำสารสนเทศผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีสานตอนบนและเหนือตอนล่าง เพื่อต่อยอดวิจัยและพัฒนา จำหน่ายและส่งเสริมมูลค่าผลิตภัณฑ์ 2)ศูนย์วิจัยและพัฒนารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยมีห้องปฏิบัติการพื้นฐาน วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และให้บริการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 3)ศูนย์ประชุมอบรมสัมมนาเพิ่มศักยภาพเกษตรกร/ผู้ประกอบการ 4)ศูนย์เรียนรู้ Co-Working Space & Learning Space โดยมีการจำลองภูมิปัญญาท้องถิ่น การเป็นผู้ประกอบการ Product Library ถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยรวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำ 5)ศูนย์ส่งเสริมมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงกระบวนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 6)พื้นที่แสดงสินค้า Business Matching, Super Market 180917_0006

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จ.อุดรธานี จะให้การสนับสนุนเครื่องมือ ITC ที่สามารถให้บริการด้าน Pilot Plant / Co-working Space สำหรับพัฒนาเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นต้นและขั้นกลางได้ รวมถึงบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูป รวมถึงการให้บริการปรึกษาแนะนำและให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งแบบ Offline และ Online ผ่านระบบ RISMEP Application

3.สนับสนุนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬเป็นคลัสเตอร์ยางพารา (Rubber Economic Cluster) เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องยางพาราอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางพารา โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีการผลิตยางก้อน ซึ่งมีมูลค่าต่ำ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์การแปรรูป การพัฒนาและศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมเพื่อนำยางพาราไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะสนับสนุนฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศใช้เป็นแหล่งข้อมูลและสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก และ สมอ.กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง จำนวน 163 มาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ มาตรฐานแผ่นยางปูทางเชื่อมระหว่างทางรถไฟ มาตรฐานยางรัดเอวพยุงหลัง มาตรฐานแผ่นยางปูพื้นสำหรับผู้พิการทางสายตา ฯลฯ

ทั้งนี้ ข้อเสนอของภาคเอกชน จะนำเสนอจะสรุปและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาขยายผล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดต่อไป

-----------------