รื้อทิ้ง9ลำโชว์อียู"บิ๊กฉัตร"ย้ำประมงไทยเข้าระบบสมบูรณ์แบบ

12 ก.ย. 2561 | 09:45 น.
 

รองนายกรัฐมนตรีได้นำคณะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกอาเซียนลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อตรวจติดตามการรื้อทำลายซากเรือประมง พร้อมนำชมระบบตรวจสอบย้อนกลับครบวงจรที่สูงกว่ามาตรฐาน

วันนี้ ( 12 ก.ย 2561) เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกอาเซียน ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อตรวจติดตามการรื้อทำลายซากเรือประมง จำนวน 9 ลำ กลางแม่น้ำท่าจีน พร้อมนำชมการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน โดยมีผู้แทนจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ศปมผ. กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมให้การต้อนรับ

20180912025038
รองนายกฯย้ำว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ก้าวหน้ามีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยเวลานี้รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงไทยได้ทั้งระบบ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้ภาพลักษณ์การประมงของไทยในสายตาชาวโลกเกิดเป็นภาพบวก เช่น สร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรประมง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดำเนินการอย่างเข้มข้นสร้างความชัดเจนของสถานะกองเรือประมงไทยเข้าสู่ระบบ มีรายชื่อเรือประมงที่ถูกกฎหมายทั้งหมด 10,743 ลำ อยู่นอกระบบอย่างถาวรไม่สามารถกลับเข้าสู่ทะเบียนเรือไทยและเทียบท่าในประเทศไทยได้อีกต่อไป 6,315 ลำ ส่วนเรือประมงที่ผุพังแล้วต้องรื้อทำลายซากเรือประมงตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้นำไปแอบแฝงทำผิดกฎหมายอีก 861 ลำ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนประมงชายฝั่ง แก้ไขเรื่องแรงงานประมงทั้งระบบสร้างความเชื่อมั่นให้กับการประมงของไทยไร้ซึ่งการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย
วันนี้จะมีการรื้อทำลายทั้งหมด 9 ลำ จากจำนวน 44 ลำของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งภาครัฐมีการดำเนินการตามกระบวนการอย่างเป็นระบบ มีการสำรวจและประชาสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ภายใน 30 วันตามระเบียบ การรื้อทำลายเช่นนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนครบ 861 ลำ เพื่อกำจัดซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทยให้หมดสิ้นไปจากน่านน้ำไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตของสินค้าประมงโดยจะต้องมีคุณภาพมาตรฐาน และไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันไทยได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแยกเป็น 2 ส่วน ทั้ง ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ผลของการพลิกโฉมหน้าระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงเพื่อการส่งออก นอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับได้ครบวงจรเหนือระดับมาตรฐานสากลแล้ว ยังทำให้เกิดความรวดเร็วในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certificate) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก จากเดิมใช้เวลา 5 วัน ลดเหลือเพียง 3 วัน ทำให้สินค้าประมงไทยเป็นที่ยอมรับ มีความโปร่งใส ลดต้นทุนผู้ประกอบการ เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

20180912024217
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนท้ายว่า การที่เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตต่าง ๆ เข้าเยี่ยมชมระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไทยในครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเส้นทางของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตั้งแต่การจับสัตว์น้ำขึ้นมาจากทะเล ผ่านกระบวนการขึ้นท่า ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งต่อเข้ากระบวนการผลิตในโรงงาน จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ประมงเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อให้นานาประเทศเกิดความมั่นใจและเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากการทำประมง IUU นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงให้เห็นบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนที่การทำประมงทั้งระบบว่ามีคุณภาพและมาตรฐานเหนือระดับสากล มีความโปร่งใส และรับผิดชอบในธรรมาภิบาลทางทะเลของโลกด้วย

e-book-1-503x62