What if... คุณอภิสิทธิ์ได้เป็นประธานอาเซียนอีกครั้ง?

12 ก.ย. 2561 | 04:45 น.
ปาฐกถาหลักของวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานสัปดาห์จุฬาฯ-อาเซียนครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-3 สิงหาคม ที่ผ่านมา จุฬาฯได้รับเกียรติจาก คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นองค์ปาฐก ซึ่งนี่คือครั้งที่ 3 ที่เราได้รับความกรุณาจากท่านมาเป็นองค์ปาฐกในงานสัปดาห์จุฬาฯ-อาเซียน ต่อเนื่องกันมา 3 ปีแล้ว โดยในปีนี้หัวข้อของการปาฐกถาพิเศษคือ Thailand and the Chairmanship of ASEAN in 2019 : Opportunity and Challenges หรือประเทศไทยกับการเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 : โอกาสและความท้าทาย ซึ่งแน่นอนว่า หัวข้อนี้ คุณอภิสิทธิ์คือ คนหนึ่งที่มีความเหมาะสมที่สุดเนื่องจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือในปี 2008/2009 คือปีที่คุณอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเคยเป็นประธานอาเซียนมาแล้ว เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนในรอบที่แล้ว โดยคำปาฐกถาของท่านสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ การทบทวนเหตุการณ์เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากนั้นก็เข้าสู่พัฒนาการและประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปี และส่วนสุดท้ายคือ เรื่องสำคัญที่ไทยต้องดำเนินการในฐานะประธานอาเซียนปี 2019 ซึ่งทั้งหมดสามารถสรุปได้ดังนี้

1.เริ่มจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปี 2008-2009 อาเซียนเพิ่งจะมี ASEAN Charter ขึ้น นั่นทำให้อาเซียนสามารถเดินหน้าบูรณาการภูมิภาคได้อย่างลึกซึ้งและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอาเซียนจะมีสถานะทางกฎหมาย และมีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบอย่างชัดเจน

2.ในปีนั้น ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ และเนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากอาเซียนที่ยังไม่มีธรรมนูญ เป็นอาเซียนที่มีธรรมนูญอาเซียนกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพยาวนานมากกว่า 1 ปี คือเกือบจะตลอด ปี 2008 และ 2009 ซึ่งแน่นอนว่า นั่นคือ ช่วงเดียวกันกับที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น นอกจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ซึ่งแน่นอน ทำให้การจัดประชุมสุดยอดอาเซียนล้มเหลวไปแล้ว 2 รอบ นั่นคือ 1. รอบก่อนที่คุณอภิสิทธิ์จะเป็นนายกฯ และรอบที่ 2 ในช่วงที่ท่านเป็นนายกฯ สถานการณ์ในโลกก็อยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อาเซียนเองก็ยังไม่บรรลุการจัดตั้งประชาคม และยังมีความท้าทายจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 นั่นทำให้อาเซียนเผชิญความท้าทายมากมาย และเราก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าไทยในฐานะประธานสามารถนำพาอาเซียนข้ามผ่านความท้าทายเหล่านั้นมาได้

3.หลังจากนั้น อาเซียนคือภูมิภาคแรกในโลกที่ก้าวพ้นภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนการค้าเสรี และอาเซียนก็ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือและสามารถบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ได้กับ 6 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย นั่นทำให้อาเซียนเป็นความร่วมมือที่ Active และ Continues

4.ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากสิ่งที่ไทยผลักดันในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2008/2009 คือ

•ASEAN Macroeconomic Research Office: AMRO ซึ่งทำให้เรามีกลไกในการ monitor เศรษฐกิจและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาพให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน

•อาเซียน มีบทบาทในเวทีระดับโลกผ่านการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือ G-20

•สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย กลายเป็นคู่เจรจาที่เข้ามาร่วมประชุม East Asia Summit

•ประเทศไทยผลักดันให้เกิด แผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Community: MPAC) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทั้งในมิติ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และที่สำคัญคือ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน

5.ในช่วงที่ 2 ของการปาฐกถา คุณอภิสิทธิ์ พูดถึงพัฒนาการและประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปี หลังจากไทยเป็นประธานอาเซียนในครั้งที่แล้ว พัฒนาการที่สำคัญที่สุดคือ อาเซียน กลายเป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ มีแผนการในการทำงาน อาเซียนกลายเป็นประชาคมที่ประชาคมโลกให้ความเชื่อมั่น อาเซียนพัฒนาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ด้วยปัญหาภายในของแต่ละสมาชิก นั่นทำให้อาเซียนยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมได้อย่างสมบูรณ์ตามที่ทุกคนคาดหวัง

6.สิ่งที่เคยทำไว้ปัจจุบันอาจจะยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง อาทิ

•อาเซียนยังไม่สามารถ Formulate new project ได้อย่างที่ควรจะเป็น เช่น ในเรื่องของความเชื่อมโยง อาเซียนยังไม่สามารถสร้างโครงการของตนเองเพื่อตนเองได้อย่างชัดเจน ยิ่งภายใต้อิทธิพลของจีนจาก Belt and Road Initiative ยิ่งทำให้บทบาทของอาเซียนในการกำหนดโครงการของตนเองแผ่วลง

•ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนความตกลงต่างๆ (ASEAN Centrality) ลดลง

•กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในอาเซียน ลดลง

•ความยุ่งยาก สับสน เพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านและการรบกวนโดยเทคโนโลยี (Technology Disruption)  ที่อาเซียนยังไม่มีความพร้อม แนวคิดแบบชาตินิยมที่รุนแรงขึ้น แนวคิดประชานิยมที่รุนแรงขึ้น

•ความรู้สึกของการเป็นประชาคมเดียวกัน (Spirit of Community) ลดลง อาเซียนยังไม่ได้ใช้เรื่องของความเชื่อมโยง (Connectivity) ในการสร้างความรู้สึกของการเป็นประชาคมร่วมกัน และมีบทบาทในเวทีโลก

สำหรับช่วงที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด คุณอภิสิทธิ์ นำเสนอ 5 ประเด็นที่อาเซียนภายใต้การเป็นประธานของไทยในปี 2019 ต้องดำเนินการ โดยท่านสรุปออกมาเป็น 5 เรื่อง

1.Community of Action อาเซียนต้องเป็นประชาคมที่ลงมือทำจริง ยังไม่ต้องเอาเรื่องยากๆ ก็ได้ แต่น่าจะต้องเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังจากเรื่องที่ง่าย และทุกคนเห็นพ้องต้องกัน โดยเรื่องที่คุณอภิสิทธิ์เสนอคือ การรับมือกับภัยพิบัติ การร่วมกันแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่อาเซียนทุกประเทศต้องเผชิญร่วมกัน เช่น ปัญหาหมอกควันไฟ อาเซียนต้องร่วมกันลงขัน ให้ความช่วยเหลือ และมีบทบาทในการหาทางออกร่วมกัน ต้องใช้กลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้คนอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด

2.Move on to the more difficult issues เมื่อทำเรื่องง่ายและเรื่องที่เห็นตรงกันในข้อที่ 1 ได้ อาเซียนก็ต้องเดินหน้าต่อในประเด็นที่มีความยากมากยิ่งขึ้น อาทิ ล่าสุดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-จีน สามารถบรรลุข้อตกลงบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับกรณีทะเลจีนใต้ได้สำเร็จ เรื่องเหล่านี้จะทำให้อาเซียนได้รับความเชื่อมั่น (Creditability) ในประชาคมโลก เรื่องที่ยากมากยิ่งขึ้นที่เราต้องเริ่มลงมือ คือ เรื่องโรฮิงญา เรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในความเป็นจริง ไทยได้ริเริ่มไว้แล้วในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งที่แล้ว นั่นคือ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR) เราต้องทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า อาเซียนมีความเห็นอกเห็นใจ (Care) ในประเด็นเหล่านี้

3.Continue and Advance an old issues อาเซียนต้องเดินหน้าต่อเนื่องและทำให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในประเด็นเดิม

•การเชื่อมโยง ASEAN Connectivity กับ Belt and Road Initiative ของจีน อาเซียนต้องเป็นอาเซียนที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ทุกครั้งที่มีการประชุมกับประเทศคู่เจรจาก็ต้องออกแถลงการณ์ 11 ฉบับ คือ 10 ฉบับของแต่ละประเทศอาเซียน และ 1 ฉบับของคู่เจรจา ต้องมีอาเซียนเดียวมีแถลงการณ์เพียง 2 ฉบับ เพราะนี่คืออาเซียนกับคู่เจรจา ไม่ใช่คู่เจรจาทำการเจรจาแบบทวิภาคี 10 ครั้งกับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องทำให้ BRI มีบทบาทในการสนับสนุน Master Plan on ASEAN Connectivity ไม่ใช่ทิศทางตรงข้าม

•ประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่อาเซียนต้องเดินหน้า อาทิ สินค้าและบริการฮาลาล พลังงานทางเลือก การระดมทุนแบบ Cloud Funding การสร้างตราสินค้าอาเซียน (ASEAN Brand)

•อาเซียนต้องเป็นประชาคมที่เข้มแข็งเพื่อต่อต้านสงครามการค้า (Trade War) อาเซียนต้องเดินหน้าสนับสนุนการค้าเสรีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากอาเซียนร่วมมือกันทั้ง 10 ประเทศอาเซียนจะมีอำนาจการต่อรองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO)

4.Tacking some new challenges in Global Forum อาเซียนต้องเข้าไปมีบทบาทในความท้าทายใหม่ในเวทีระดับโลก เช่น ในเรื่อง Cyber-Security เรื่อง Techno-Multinational Company ขยายความ เช่น ปัจจุบัน Multinational Tech-company ทำธุรกิจทั่วโลก ทำธุรกิจในอาเซียน คำถามคือ เสียภาษีให้รัฐบาลในอาเซียนหรือไม่ทั้งที่อาเซียนเป็นตลาดขนาด 700 ล้านประชากร อำนาจการต่อรองของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ถ้าเราสามารถรวมตัวกันได้อย่างแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Racing to the Bottom ได้ด้วย ขยายความคือ ทุกประเทศสมาชิกแข่งกันให้สิทธิพิเศษเพื่อแย่งเงินลงทุนเข้าประเทศตนเอง จนเสียผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ จนไปถึงผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการแข่งกันลดหย่อนผ่อนกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมลํ้า (Inequality) ในอาเซียนอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

5.Open Regionalism อาเซียนต้องเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง และสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่อาเซียนต้องเร่งดำเนินการคือ การหาข้อสรุปและบังคับใช้ Regional Comprehensive Economic Partnerships: RCEP หรือ อาเซียน+6 ให้ได้

เพื่อสรุปใน 5 ข้อนี้ คุณอภิสิทธิ์ เสนอตัวย่อใหม่ของคำว่า อาเซียน ASEAN

A = Advance Community เช่นเรื่อง Tech-company, Cyber-security

S = Smart เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและในโลก แล้วนำเอาเทคโนโลยีมาใช้

E = Empathy Community อาเซียนต้องมีความเข้าใจ เห็นใจซึ่งกันและกัน Community of Care

A = Action & Active โดยเฉพาะในเรื่อง ภัยธรรมชาติ

N = Networking ต้องสรุป RCEP และใช้เวที G20 ให้เป็นประโยชน์

ในช่วงสรุปสุดท้าย คุณอภิสิทธิ์ยํ้าว่า ต้องทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง อาเซียนต้องไม่ใช่ประชาคมของผู้นำทางการเมือง ต้องให้ประชาชนอาเซียนมีบทบาท ในปี 2009 เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน เราริเริ่มไว้แล้ว ในการสร้างเวทีให้ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศได้ พบและพูดคุยกับ เยาวชนอาเซียน รัฐสภาอาเซียน และ ตัวแทนภาคประชาสังคม

ปี 2019 จะเป็นปีที่สำคัญมากของประเทศไทย เพราะเราจะมีการเลือกตั้งและไทยจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ต้องทำให้อาเซียนมีความหมายสำหรับประชาชนอาเซียน

……………………………………………………………….

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ |โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3400 ระหว่างวันที่ 13 - 15 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว