วสท.วิเคราะห์วิศวกรรม-ความปลอดภัยและข้อเสนอแนะเทอร์มินัล2 สุวรรณภูมิ

08 ก.ย. 2561 | 09:37 น.
วสท. สนองตอบเสียงร้องขอจากปชช. ทั้งชงข้อคิดเห็นทางวิศวกรรม-ความปลอดภัย 5 ข้อ สำหรับการออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) หลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ค่าก่อสร้าง 35,000 ล้านบาท

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยว่า จะเห็นว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากประชาชน แวดวงสถาปนิกและหลายอาชีพ รวมถึงสื่อมวลชน เนื่องจากเทอร์มินัลเปรียบเสมือนประตูเมืองที่สะท้อนภาพลักษณ์ แบรนดิ้งและคุณค่าของประเทศไทยต่อนักท่องเที่ยวและชาวโลก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ประเทศไทยในปี 2560 จำนวนกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของ GDP และตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2561 ประมาณ 36-37 ล้านคน คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเมืองรอง และเศรษฐกิจไทยกระจายรายสู่ภาคส่วนต่างๆ

eng1

สำหรับการออกแบบและก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีคุณภาพ ต้องประกอบด้วย 1.) งานออกแบบที่ชาญฉลาดมาจากการศึกษาวิจัย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ออกแบบทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ระบบเพื่อแก้ไขปัญหา และสนองต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ มิได้มุ่งเพียงภาพความสวยงามเท่านั้น 2.) ใช้พหุศาสตร์และเทคโนโลยีในการก่อสร้างอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 3.) ใช้วัสดุที่ดีมีคุณภาพ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.) มีความปลอดภัยทั้งระยะก่อนก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้างหรือเปิดบริการแล้ว 5.) เป็น Smart Design ที่รองรับความต้องการและการเติบโตในอนาคตได้ด้วย เนื่องจากอาคารเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกกว่า 50-100 ปี

ด้านนายเกชา ธีระโกเมน อุปนายก วสท. กล่าวเสริมว่า ประเด็นอาคาร Terminal 2 มีความเห็นว่าจากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้เห็นแบบประกวดทางสื่อมวลชน ที่ใช้ไม้จำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ และยังไม่เห็นแบบผังอาคารส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจยังไม่ได้พัฒนานั้นความเห็นด้านอัคคีภัย คือ การออกแบบใช้ไม้เป็นท่อนๆจำนวนมากเรียงประกอบกันที่หัวเสาและเพดาน หากเกิดไฟไหม้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอันตรายจากอัคคีภัยขึ้น ไม้เป็นชิ้นเป็นท่อนมีพื้นที่ผิวมากกว่าไม้ท่อนเดียว ทำให้สามารถติดไฟได้เร็วและมีขนาดไฟใหญ่รุนแรงกว่ามาก ท่อนไม้ประดับในระดับสูงจะจมอยู่ในชั้นระดับความร้อนจากเพลิงไหม้ที่ลอยขึ้นไปและสะสมอยู่ใต้เพดาน จะทำให้ท่อนไม้ติดไฟเร็วขึ้นระบบดับเพลิงที่มีตามมาตรฐาน

eng2

ทั้งจาก Sprinkler และ Hose system ไม่สามารถรองรับขนาดไฟที่เกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มต้นอาคารผู้โดยสาร ถือเป็นอาคารชุมนุมคนและมีคนในเวลาเดียวกันหลายหมื่นคน มาตรฐานสากล NFPA 101 ของสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ National Fire Protection Association -USA จึงกำหนดให้วัสดุตกแต่งผิวที่ลุกลามไฟช้าประเภท A หรือ B เท่านั้น แต่ไม้จัดเป็นประเภท C (Flame spread Class A = 0-25, Class B = 26-75, Class C = 76-200) ไม้เนื้ออ่อนเนื้อแข็งทั่วไป จะมี flame spread ประมาณ 100 เช่น Red Oak Wood

จึงตกที่Class C ตามมาตรฐาน NFPA101 จึงไม่อนุญาตให้ใช้ไม้หรือโฟมหรือฟองน้ำหรือพลาสติกที่เป็น Class C ในโถงหรือทางเดินหรือช่องบันไดกรณีมีคนจำนวนมากกว่า 300 คนส่วนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญ การออกแบบอาคารหลังนี้สามารถเลือกใช้วัสดุอื่นๆมาทดแทนไม้ ส่วนซอกมุมที่ไม้ร้อยถักจำนวนมากและอยู่สูงระดับ 15 - 20 เมตร จะดูแลกันอย่างไรในเรื่องฝุ่น การทำความสะอาดและการซ่อมแซม
eng3 รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของท่าอากาศยานในอนาคต E-Terminal ต้องการอาคารผู้โดยสารและการเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆเพื่อให้ระบบการขนส่งลำเลียงผู้โดยสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสร้างความพึงพอใจสูงสุด ประหยัดพลังงาน ขณะที่ผู้โดยสารต้องการเดินทางสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการเช็คอินเช็คเอาท์ประหยัดเวลา เกิดความอุ่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความพึงพอใจจากประสบการณ์ใหม่ๆในท่าอากาศยานและการเที่ยวชมสินค้าปลอดภาษี จะเห็นว่าในระยะ 15 ปี ท่าอากาศยานในนานาประเทศได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ประกอบไปด้วย IoT,Big Data และ AI ดังนั้นบริการในท่าอากาศยานของไทยควรคำนึงถึง อนาคตของวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึง ตัวอย่างเช่น เทอร์มินัล 4 ของท่าอากาศยาน ชางอี สิงคโปร์ ผู้โดยสารสามารถเช็คอินด้วยตนเองผ่านระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ ทั้งยังสื่อภาพลักษณ์ความเป็นตัวตน และความทันสมัยของสิงคโปร์ได้อย่างลงตัว ขณะที่สนามบินปักกิ่งแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะเปิดบริการในกลางปี 2562 ได้ออกแบบโครงสร้างและการเชื่อมต่อให้ร่นระยะเวลาขนส่งสัมภาระเหลือเพียง 13 นาที หลังจากเช็คอินหรือเครื่องลงจอด และการเดินทางจากด่านตรวจศุลกากรไปยังประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วยเวลาเพียง 8 นาที เท่านั้น

eng4

จึงควรมีระบบการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น (Multi-Model Transportation)ซึ่งนอกจากรถยนต์นั่งส่วนตัว ควรคำนึงถึงที่จอดรถตู้ รถโดยสารขนาดใหญ่ เชื่อมโยงกับระบบรางที่ สะดวกรวดเร็ว ในอนาคตอาจมีนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงใกล้ๆสนามบิน ที่ต้องการคลังสินค้าศุลกากรและระบบต่างๆ ทั้งควรพิจารณาระบบโครงสร้างและการตกแต่งที่ใช้วัสดุที่เหมาะสม ดูแลบำรุงรักษาง่ายระบบวิศวกรรมอัจฉริยะที่ช่วยลดการใช้พลังงาน

ผศ.ดร. ชูชัย สุจิวรกุล คณะอนุกรรมการมาตรฐานอาคารคอนกรีต วสท. กล่าวว่า การใช้วัสดุก่อสร้างจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักสากลหรือหากมีมาตรฐานภายในประเทศ เช่น มาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ควรนำมาใช้ในการออกแบบ อาคารผู้โดยสาร Terminal 2 ถือเป็นทั้งอาคารสาธารณะและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งต้องการวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพมากกว่าปกติโดยเฉพาะสมบัติด้านอัคคีภัย วัสดุก่อสร้างที่ใช้ในอาคาร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ วัสดุที่ใช้ทำโครงสร้างอาคารซึ่งเป็นส่วนที่รับน้ำหนัก ได้แก่ เสา คาน พื้น ผนัง โครงถัก โครงอาร์ค และโครงหลังคา ส่วนที่สอง คือ วัสดุตกแต่ง ได้แก่ วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดานภายใน วัสดุตกแต่งผิวพื้นภายใน วัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างของอาคารจะต้องมีสมบัติการทนไฟ (Fire-Resistance Rating) เป็นไปตามชนิดของโครงสร้างและประเภทของการก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น เสาหรือคานต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และตงหรือพื้นต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549) ออกตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และวัสดุเหล่านี้ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้

nfpa

หากวัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักได้ทำจากไม้จริง ต้องเป็นไม้เนื้อแข็งมากและต้องมีขนาดของโครงสร้างไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน NFPA 415 สำหรับการใช้ท่อนไม้มาเรียงต่อกัน ดังที่ใช้ในอาคาร Terminal 2 ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นโครงอาร์คที่รับน้ำหนัก หรือถ้าหากมีโครงสร้างอื่น (ที่ไม่ใช่ไม้) มารองรับท่อนไม้เหล่านี้ อาจมองว่าท่อนไม้เป็นวัสดุตกแต่งภายในอาคารผู้โดยสารก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักการใช้ไม้จริงทั่วไปอาจจะไม่เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากไม้จริงมีอัตราการทนไฟที่ต่ำ หากต้องการให้มีอัตราการทนไฟสูงขึ้นควรใช้วัสดุอื่นๆ แทนไม้ สำหรับในกรณีวัสดุตกแต่งภายในอาคาร Terminal 2 วัสดุตกแต่งที่ใช้ต้องมีคุณสมบัติการลามไฟและการกระจายควันไม่น้อยกว่าระดับชั้น A หรือ B ตามการทดสอบมาตรฐานมยผ. 8206-52 หรือ ASTM E84 หรือ NFPA 255 ซึ่งขึ้นอยู่กับการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และส่วนประกอบภายในอาคาร
nfpa1 ทั้งนี้ วสท. สรุปข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ในการออกแบบและก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร ดังนี้ 1.)โครงการควรมุ่งการออกแบบ เพื่อบริหารจัดการมากกว่าการให้ความสำคัญกับการตกแต่ง 2.) การออกแบบและวัสดุที่ใช้ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ความปลอดภัยของประชาชนและผู้มาใช้บริการเป็นสำคัญ
3.)นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากขึ้นในการบริหารจัดการเทอร์มินัล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิม เมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มในอนาคต

4.) หากจำเป็นต้องจัดประกวดแบบครั้งใหม่ ควรเชิญผู้มีความรู้หลายด้านไม่เฉพาะสถาปนิก มาระดมความคิดเห็น 1-2 วัน เพื่อกำหนดกรอบสำคัญของการประกวดออกแบบให้ตอบโจทย์สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและความต้องการของประชาชน เช่น ประสิทธิภาพการลำเลียงผู้โดยสารและสัมภาระ ด้านการบริหารจัดการพลังงาน ด้านเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านconnectivity ด้านคุณค่าความเป็นประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นไทยดั้งเดิม อาจเป็นไทยโมเดิร์นหรือไทยสากลก็ได้
5.) คณะกรรมการพิจารณาตัดสิน ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมบริหารทรัพยากรอาคาร พลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

nfpa2

nfpa3

23626556