ต่างชาติไล่เก็บบอนด์! หนีตลาดเกิดใหม่ผันผวน ซื้อสุทธิ 6.18 หมื่นล้าน

10 ก.ย. 2561 | 05:11 น.
100961-1211

สมาคมตราสารหนี้ ระบุ ต่างชาติกลับเข้าตลาดบอนด์ หลังเกิดเหตุตุรกีงัดข้อสหรัฐฯ ล่าสุด ซื้อสุทธิ 6.18 หมื่นล้านบาท เหตุพื้นฐานเศรษฐกิจดี เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เผย เอกชนแห่ออกหุ้นกู้ 8 เดือน 5.4 แสนล้านบาท มั่นใจทั้งปีทะลุ 7 แสนล้านบาท แถมโครงสร้างลงทุนรัฐหนุนออกหุ้นกู้รีไฟแนนซ์

สถานะการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย ล่าสุด พบว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 6 ก.ย. 2561 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยถึง 207,933 ล้านบาท และเข้ามาซื้อสุทธิในพันธบัตรไทย 61,800 ล้านบาท โดยดูจากยอดการถือครองพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติโดยส่วนใหญ่ เพราะรับรู้ความแข็งแรงของไทย ซึ่งต่างจากประเทศตุรกี อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา เพราะไทยมีสถานะที่แข็งแกร่ง ทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลการค้า และดุลการคลังเกินดุล และเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนยังมองไทยในเชิงบวก

 

[caption id="attachment_314386" align="aligncenter" width="336"] อริยา ติรณะประกิจ อริยา ติรณะประกิจ[/caption]

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นักลงทุนต่างชาติได้หันกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. หลังเกิดเหตุการณ์ที่ตุรกีตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา จากช่วงต้นปีที่เงินต่างชาติทยอยไหลออก หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย และต่อเนื่องจากความกังวลในเรื่องสงครามการค้า โดยเป็นการไม่ต่ออายุพันธบัตรระยะสั้นที่ครบอายุ ทำให้ยอดซื้อขายต่างชาติเริ่มติดลบบาง ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุความกังวลที่ตุรกี เงินได้ไหลกลับมาอีกครั้ง เพราะหากเทียบกับตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน ไทยจะอยู่ในอันดับแรก ๆ ที่ต่างชาติเลือกจะเข้ามาลงทุน เป็นหลุมหลบภัยระยะสั้น หรือ Safe Haven จนล่าสุด มียอดซื้อสุทธิ 61,800 ล้านบาท และเป็นการเข้ามาลงทุนทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วนเท่า ๆ กัน จึงไม่ได้สะท้อนว่า เป็นเงินร้อน เพราะเข้ามาลงทุนพันธบัตรอายุ 5 ปี 10 ปี ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงผลตอบแทนในตลาด จึงไม่ใช่ลงทุนระยะสั้นเท่านั้น

"แนวโน้มหลังจากนี้ มองว่า แม้ไทยจะเป็นตลาดเกิดใหม่ แต่นักลงทุนก็แยกแยะ ไม่ได้เหมารวมกันทีเดียว เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศเศรษฐกิจจะเหมือนกัน การลดน้ำหนักในบางประเทศ ก็อาจจะหันมาเพิ่มน้ำหนักในบางประเทศได้ อย่างเราจะเห็นว่า แม้อัตราแลกเปลี่ยนจะอ่อนค่าตามภูมิภาค แต่เราแข็งขึ้น 1% เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเป็นบวก คิดเป็น 10.8% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน สัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาลยังน้อย ไม่ถึง 2% ของหนี้ภาครัฐทั้งหมด เพราะหลัง ๆ รัฐบาลหันมาออกพันธบัตรในประเทศแทน เพราะไม่ต้องกังวลความเคลื่อนไหวของค่าเงิน"



MP24-3399-A


สำหรับการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน ในช่วง 8 เดือนแรก พบว่า มีมูลค่ารวม 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งปีน่าจะมีโอกาสทะลุ 7 แสนล้านบาท ตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะเห็นการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนมูลค่าสูง ๆ เพิ่มขึ้น อย่าง บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ที่ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อไปซื้อกิจการโรงแรมที่สเปน หรือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่ออกหุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท ไปก่อนหน้านั้น ที่นำเงินไปลงทุนใน 4 กิจการ อย่าง ซื้อกิจการเบียร์ในเวียดนาม ในเมียนมา ซื้อสาขาเคเอฟซีเพิ่ม และกำลังมีแผนที่จะออกล็อตที่ 2 เพิ่มเติมอีก

"การออกหุ้นกู้เอกชนล็อตใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการเข้าไปซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ โดยแรก ๆ จะเป็นการใช้เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินก่อน แล้วจึงมารีไฟแนนซ์เป็นหุ้นกู้ในภายหลัง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นกู้เอกชนทำสถิติทะลุ 8 แสนล้านบาท มาตลอด ซึ่งปัจจุบัน สัดส่วนหุ้นกู้มีประมาณ 27% ของมูลค่าคงค้างทั้งหมด พันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยรวมกัน 70% ที่เหลือเป็นตั๋วเงินคลัง ซึ่งแสดงว่า หุ้นกู้เอกชนยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะหากเทียบสัดส่วนต่อจีดีพี เราแค่ 20% เท่านั้น เมื่อเทียบกับเกาหลีที่มีสัดส่วนสูงถึง 74% ขณะที่ มาเลเซียอยู่ที่ 46% ของจีดีพี"

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่บริษัทขนาดใหญ่จะซื้อกิจการธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ น.ส.อริยา กล่าวว่า ไม่สามารถประเมินได้ เพราะส่วนใหญ่จะรู้เมื่อดีลเจรจาเสร็จแล้ว เพราะแรก ๆ เป็นการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินก่อน แต่ก็พอมองเห็นได้ว่า แนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เพราะการระดมทุน เพื่อใช้เป็นเงินทุน หรือเป็นสภาพคล่องหมุนเวียนในบริษัท มูลค่าการออกหุ้นกู้จะไม่สูงนัก ดังนั้น เมื่อภาพรวมการออกหุ้นกู้เอกชนมาจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่า แนวโน้มหุ้นกู้เอกชนจะเติบโตได้อีกมาก เพราะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลหลายโครงการที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สถานี ที่อยู่ระหว่างการซื้อซองประมูล เพราะหากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับสัมปทานไป เชื่อว่าจะต้องมีการมารีไฟแนนซ์และใช้ช่องทางหุ้นกู้เป็นหนึ่งในช่องทางการระดมทุนอย่างแน่นอน


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,399 วันที่ 9-12 ก.ย. 2561 หน้า 24

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เงินร้อนทะลักตลาด  ไหลเข้า2วันหมื่นล้าน  เก็งกำไรระยะสั้นบอนด์
ทางออกนอกตำรา :  "เจ้าสัวอนันต์ อัศวโภคิน" อัสดง เครดิตเงินกู้เกือบจังก์บอนด์
เพิ่มเพื่อน


23626556