พบพิรุธ สนพ. ตั้งราคากลาง จ้าง บ.พีอาร์!!

04 ก.ย. 2561 | 10:34 น.
ประธานสอบใช้เงินอนุรักษ์พลังงานไขก๊อก! พบพิรุธ สนพ. กำหนดราคากลาง จัดซื้อจัดจ้างงานประชาสัมพันธ์ โดยใช้ราคาอ้างอิงจากบริษัทพีอาร์ขาประจำ แถมสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ ต่างกับสำนักงานปลัด ใช้ 3 แหล่งข้อมูล กำหนดราคากลาง ... อดีตผู้ว่าการ สตง. จี้สอบเอื้อประโยชน์

ก่อนที่จะมีการเสนอผลตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้งบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณา ปรากฏว่า น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบได้ ขอลาออก นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน จึงได้ลงนามแต่งตั้ง นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ แทน

"วันที่ 5 ก.ย. นี้ จะรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบไปยังคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนฯ ที่มีนายศิริเป็นประธาน จากนั้นจะรายงานความคืบหน้าไปยังคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 6 ก.ย. นี้" แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุ

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อมูลการใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการประชาสัมพันธ์ พบข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำราคากลางของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แม้จะมีการประกวดราคาด้วยวิธีประมูลอิเล็กทรอนิกส์ แต่การกำหนดราคากลางกลับใช้ราคาอ้างอิงจากบริษัทเอกชนที่เข้ามารับงาน ต่างจากการกำหนดราคากลางของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ดังนี้

โครงการแผนงานสื่อสารการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2559 ของ สนพ. ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณไว้ 6.78 ล้านบาท แต่กลับกำหนดราคากลางไว้ที่ 7.03 ล้านบาท สูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยเอกสารประกวดราคาระบุแหล่งที่มาของราคากลางว่า มาจากการสำรวจราคาจาก 3 บริษัท คือ บริษัท ยีราฟ เอเจนซี่ จำกัด , บริษัท เมค อิท ดิฟเฟอเร้นท์ จำกัด และบริษัท โกลบอล อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยที่บริษัท โกลบอล อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่นฯ ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 6.366 ล้านบาท

โครงการต่อมา คือ โครงการรวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์ ภายใต้โครงการเผยแพร่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปีที่ 2 ของ สนพ. ช่วงต้นปี 2559 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 30 ล้านบาท แต่ สนพ. กลับกำหนดราคากลางไว้ที่ 32.043 ล้านบาท โดยอ้างอิงราคากลางจาก บริษัท ยีราฟ เอเจนซี่ จำกัด และบริษัท ซิน คัมปานี จำกัด เมื่อมีการประกาศผู้ชนะ บริษัท ยีราฟ เอเจนซี่ จำกัด ชนะในราคา 29.5 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ โครงการรวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์ ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์รณรงค์ประหยัดพลังงานภาคประชาชน ปี 2560 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 40 ล้านบาท แต่ราคากลางอยู่ที่ 39.19 ล้านบาท โดยเอกสารประกวดราคาระบุที่มาของราคากลาง ว่า มาจากการอ้างอิง บริษัท ยีราฟ เอเจนซี่ จำกัด , บริษัท ซิน คัมปานี และบริษัท คาริสม่า มีเดีย จำกัด โดยที่ บริษัทยีราฟฯ ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 39 ล้านบาท

ขณะที่ ว่าจ้างบริษัทเข้ามารับงานประชาสัมพันธ์ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ในโครงการประชาสัมพันธ์ตามสถานการณ์ ปี 2560 ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการจัดสรรงบ 22 ล้านบาท มีราคากลาง 22 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า ในเอกสารการประมูลระบุแหล่งที่มาของราคากลาง 3 ส่วน คือ 1.ตามราคามาตรฐานที่สำนักงบประมาณกำหนด 2.ราคาที่เคยซื้อหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ และ 3.คือ การสืบราคาจากท้องตลาด ซึ่งพบว่า มีการสืบราคามาจาก 4 แหล่ง คือ มาจากบริษัท ซิน คัมปานี จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการนี้ , บริษัท บลูโอเชียน อิมเมจ จำกัด , บริษัท คาริสม่า มีเดีย จำกัด และอัตราค่าโฆษณา โดยจากบริษัทผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ ต่างจากการจัดซื้อจัดจ้างของ สนพ. ที่อาศัยราคากลางจากราคาอ้างอิงของเอกชนเพียงอย่างเดียว

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คงเป็นเรื่องบังเอิญที่กระทรวงพลังงานใช้วิธีการสำรวจราคากลางจากบริษัทเดิม ๆ ไม่กี่บริษัท โดยส่วนตัวมองว่า อาจจะต้องมองถึงประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาประโยชน์ทับซ้อนด้วย เพราะบริษัทที่ร่วมประมูลถูกสำรวจราคากลาง แล้วก็ชนะการประมูลในงานนั้นด้วย ซึ่งหน่วยงานตรวจสอบต้องเข้าไปตรวจสอบว่าเป็นการเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่

"โดยหลักแล้ว วิธีการสำรวจราคากลางประเภทนี้ อาจจะเทียบเคียงได้หลายวิธี เช่น อาจจะสืบหาราคากลางจากหน่วยงานอื่น ๆ ข้างเคียงว่า การจัดซื้อจัดจ้างเรื่องนี้ใช้วงเงินเท่าไร แล้วนำมาตั้งเป็นราคากลางได้ เรื่องแบบนี้ผิดปกติ แต่ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า ผิดหรือไม่ แต่กระบวนการอย่างนี้ต้องทำให้มีธรรมาภิบาล ต้องมีการตรวจสอบดูเชิงลึก เพราะมีไม่กี่รายที่ได้งานกันมาตลอด"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,398 วันที่ 6-8 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เร่งแก้ฮั้วขายปลีกน้ำมัน-สนพ.ชี้เอาผิดไม่ได้ จ้างทีดีอาร์ไอศึกษาต้นทุนจริง
สนพ.ยันPDPฉบับใหม่ไม่ส่งผลกฟผ.ลดกำลังการผลิตไฟฟ้า

เพิ่มเพื่อน 23626556