ก.พ.ร.หอบเอกสารแจงเวิลด์แบงก์ ‘4G-ลงทุนรัฐ’หนุนสินเชื่อโต หวังยกอันดับ‘ดัชนีทำธุรกิจในไทย’

17 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
กพร.นำทีม "ไทยแลนด์"หอบเอกสาร-ข้อเสนอแจงธนาคารโลก หวังยกระดับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย หลังจากปี 58 อันดับร่วง โดยเฉพาะดัชนีวัด "การเข้าถึงสินเชื่อ" และ"การเริ่มต้นธุรกิจ" "กรมบังคับคดี"โอดผลประเมินที่ผ่านมาคะแนนตก เหตุไม่สามารถคอนโทรลเอกชนให้ตอบแบบสอบถามในกรอบสมมติฐาน

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์ ) ได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)ในไทย โดยเริ่มเข้ามาสำรวจประเทศไทยเมื่อปี 2548 หลังจากจัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2547 และผลรายงานล่าสุดปี 2558 ประเทศไทยตกอันดับจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 47 มาเป็นอันดับ 49 ในปี 2558 จากผลสำรวจ 189ประเทศทั่วโลก และเทียบในเอเชียด้วยกันไทยอยู่อันดับ 9 หรือในอาเซียนไทยอยู่อันดับ 3 ต่อท้ายสิงคโปร์และมาเลเซีย

ในเรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึง ได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการยกระดับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจเพื่อหาแนวทางดำเนินการแก้ไขในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ผลประเมินในครั้งต่อไปดีขึ้นตามลำดับ

ต่อเรื่องนี้นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่าที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)ในฐานะเลขาคณะทำงานได้จัดประชุมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมให้ทุกหน่วยงานฟังและเข้าใจในประเด็นเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งคำตอบแบบสอบถามภายในเดือนมีนาคมปีนี้ ตามรายงานที่ธนาคารโลกกำหนดจะทำ Doing Business ประจำปี 2560 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ธนาคารโลกจะเข้ามาทำมีการสำรวจนั้น ทางคณะทำงาน @Thailand Team ที่ประกอบด้วย กพร.และตัวแทนหน่วยงานรัฐ รวมถึงกรมบังคับคดีจะไประชุมเชิงเทคนิคกับธนาคารโลกระหว่างวันที่ 16-20กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นการเดินทางไปครั้งแรกของผู้แทนไทยเพื่อขอคำแนะนำจากธนาคารโลก รวมทั้งจะเสนอความคืบหน้าและชี้แจงเพิ่มในบางประเด็นซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างจากผลประเมินที่ออกมา

ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะนำข้อความหรือประเด็นที่จะทำให้คะแนนของประเทศดีขึ้น เพราะอยากเห็นผลรูปธรรมเชิงบวก ในตัวชี้วัดทั้ง 10ด้าน กล่าวคือ 1.ดัชนีชี้วัดการเริ่มต้นธุรกิจ 2.การขออนุญาตก่อสร้าง 3.การขอใช้ไฟฟ้า 4.การจดทะเบียนทรัพย์สิน 5.การได้รับสินเชื่อ 6.การคุ้มครองผู้ลงทุน 7.การชำระภาษี 8.การค้าระหว่างประเทศ 9.การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ10.ดัชนีชี้วัดการแก้ปัญหาล้มละลาย ซึ่งปัญหาใหญ่ของผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยที่ผ่านมาคือ "การได้มาซึ่งสินเชื่อ"ที่มีคะแนนตกไป 7 อันดับมาอยู่ที่ 97 จากเดิมที่ 90 หรือดัชนีการวัด"การเริ่มต้นธุรกิจ"ตกมาอยู่อันดับ96 จาก91

"ในส่วนของกรมบังคับคดีที่จะไปชี้แจง คือตัวชี้วัดที่ 9เรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และตัวชี้วัดที่ 10เรื่องการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ที่เหลือ กพร.จะรวบรวมประเด็นภายหลังจากได้ประชุมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยธนาคารโลกให้ความสนใจเรื่องกฎหมายล้มละลายมาก ซึ่งปี 2558ที่ผ่านมาคะแนนตกลงถึง 4 อันดับ มาเป็นอันดับที่ 49 จากที่อยู่อันดับ 45 ในปี 2557

ซึ่งเรารู้ประเด็นปัญหาแล้ว แต่สิ่งที่ไม่สามารถคอนโทรลคือ คนตอบแบบสอบถามที่เป็นเอกชนไม่ตอบในกรอบสมมุติฐาน(Assumptions) ของธนาคารโลก จึงอยากทำความเข้าใจก่อนที่ธนาคารโลกจะส่งแบบสอบถามและกำหนดจัดส่งให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่อที่คะแนนของประเทศจะดีขึ้น"

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้หารือกับกพร.ว่า ควรจะขอให้ธนาคารโลกเพิ่มแบบสอบถามเพื่อให้ครอบคลุมทนายความที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกรมบังคับคดี เพราะสาเหตุที่ทำให้คะแนนตกนั้น เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามเอาประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำมาตอบ ซึ่งไม่ตรงกับคำถามของธนาคารโลก ฉะนั้นผู้ตอบต้องเข้าใจคำถาม และรับทราบความคืบหน้าหรือพัฒนาการของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากรมฯได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ไปแล้ว 5 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ล้มละลาย (ฉบับที่ 8)พ.ศ.2558 ,ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่29)พ.ศ.2558, กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้(ฉบับที่2)พ.ศ.2558, ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้พ.ศ 2558, และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขาดทอดตลาดพ.ศ. 2559

นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6ฉบับ คาดอย่างน้อย 2ฉบับจะสามารถผลักดันได้ทันการเข้ามาประเมินของธนาคารโลกคือ ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่...)พ.ศ...(การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) และร่างพ.ร.บ.แก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค4 ลักษณะ 2

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559