‘ทวารัฐ’ แจงบริหารกองทุนอนุรักษ์พลังงานโปร่งใส!

03 ก.ย. 2561 | 07:54 น.
“ทวารัฐ” แจงไร้การแทรกแซงกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ขณะที่การพิจารณาโครงการตามงบประมาณปี 2562 มีคณะกรรมการ 3 ชุดควบ คุมดูแลอนุมัติ-เบิกจ่าย

ข้อร้องเรียนการดำเนินงานของ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติโครงการของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2560 สมัย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นรมว.พลังงานได้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์ฯ เพื่อแยกอำนาจของสนพ. ซึ่งเป็นฝ่ายนโยบาย ออกจากกองทุน เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่รับข้อเสนอของการใช้เงินจากกองทุน และเบิกจ่ายเงิน แต่จะให้ สนพ. ทำหน้าที่เป็นหน่วยนโยบายในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการ กองทุนฯเท่านั้น

แต่พบว่าการพิจารณาโครงการในงบประมาณปี 2561 (เพิ่มเติม) และงบประมาณปี 2562 ทางสนพ.เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ทั้งที่มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ทำให้ถูกจับตามองว่าเป็นการใช้อำนาจเก่าแทรกแซงการทำงานของส.กทอ. รวมทั้ง ผอ.สนพ.อาจเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการเก่าที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

[caption id="attachment_311888" align="aligncenter" width="503"] ทวารัฐ สูตะบุตร ทวารัฐ สูตะบุตร[/caption]

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ชี้แจงกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข่าวแบบนี้มุ่งสร้างความแตกแยกและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ การบริหารงานกองทุน ขอยืนยันทุกฝ่ายมีการทำงานที่โปร่งใส ไร้ทุจริตคอร์รัปชันสามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ จากเดิมที่ สนพ.ต้องทำหน้าที่สวมหมวก 2 ใบ คือเป็นผู้ดูแลกองทุน และเป็น ผู้กลั่นกรองเบื้องต้นในคำขอโครง การด้วย เป็นให้ทำหน้าที่แค่เป็นผู้กลั่นกรองเบื้องต้นคำขอโครงการ เช่นเดียวกันกับการขอโครงการผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ส่วนงานดูแลบริหารจัดการกองทุน นั้น ก็ให้แยกสำนักงานใหม่ออกมาจากสนพ.มาเป็นหน่วยงานเฉพาะ คือ ส.กทอ.จะมีผู้จัดการดูแลงานโดยตรงกำหนดวาระ 4 ปี ขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงพลังงาน และไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลภายในสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่บริหารจัด การกองทุนทั้งหมด นอกจากนี้ระเบียบยังกำหนดให้การยื่นขอใช้เงินกองทุนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จากเดิมที่คำขอโครงการให้ทำเป็นเอกสารกระดาษ และเริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

นายทวารัฐ ยํ้าว่า สนพ.ให้การสนับสนุนการทำงานของ ส.กทอ. อย่างเต็มกำลัง โดยมิใช่การเข้าไปวุ่นวาย หรือแทรกแซงการทำงานแต่อย่างใด นอกจากนี้จะทำอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านและถ่ายโอนงาน การดำเนินงานบริหารจัดการ และจัดสรรงบประมาณให้แก่คำขอโครงการอนุรักษ์พลังงานจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ จะเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น ไม่หยุดชะงักจนเกิดผลกระทบต่อการใช้เงินงบประมาณกองทุน

สำหรับขั้นตอนการอนุมัติโครงการงบประมาณปี 2562 แต่ ละโครงการที่จะขอทุนสนับสนุนจากกองทุน จะต้องผ่านถึง 3 ด่านอย่างเข้มข้น รัดกุม และโปร่งใส ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 พิจารณาโดยคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ขั้นที่ 2 พิจารณาโดยคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนฯ โดยมีรมว.พลังงาน เป็นประธาน และขั้นที่ 3 พิจารณาโดยคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่ออนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย

“เป็นนโยบายที่จะให้สนพ. ที่เคยทำอยู่แล้ว เข้าไปช่วยแบ่งเบาภารกิจ ส.กทอ. ที่ยังมีกำลังคนไม่เพียงพอในการเปิดรับข้อเสนอโครงการงบประมาณปี 2562 ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ต้องยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น”


|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3397 ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย.2561


23626556