สหรัฐชวดสิทธิ์ลดภาษี จีนเปิดตลาดเสรีรถยนต์

03 ก.ย. 2561 | 05:51 น.
วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา จีนลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากอัตรา 25% เหลือเพียง 15% ทำให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติทำราคาได้ตํ่าลงและผลักดันยอดขายในตลาดจีนได้มากขึ้น แต่มีเพียงผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวนี้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการตั้งแง่ทำสงครามการค้ากับจีนของผู้นำสหรัฐฯนั่นเอง

ยอดการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศของจีนทุบสถิติสูงสุดที่ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือคิดเป็นการนำเข้ารถยนต์จำนวน 165,000 คัน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการลดภาษีนำเข้าของจีน ตัวเลขดังกล่าวเป็นการทุบสถิติเดิมที่เคยทำไว้ในเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มียอดการนำเข้า 134,000 คัน จีนระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปิดตลาดเสรีของจีน ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีการเจรจากับสหรัฐอเมริกาว่าจีนจะเปิดตลาดและนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาการค้าไม่เป็นผลสำเร็จ ซํ้าร้ายยังเปิดฉากตอบโต้กันด้วยการขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากกันและกันซึ่งถึงตอนนี้ก็มีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ทำให้จีนยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดที่จะให้ประโยชน์กับสหรัฐฯ และนั่นก็ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ผลิตและส่งออกจากสหรัฐฯมายังตลาดจีน ไม่ได้รับสิทธิ์จากอัตราภาษีที่ลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม กลับถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราเพิ่มอีก 25% กลายเป็นภาษีรวม 40% ทำให้รถยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯมีราคาสูงขึ้นมากในตลาดจีน

ดีลเลอร์รถยนต์ในจีนให้ความเห็นว่า ช่วงเวลานี้ของปีเป็นช่วงเวลาที่ยอดจำหน่ายรถยนต์จะแผ่วลง แต่สถานการณ์การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและก็ส่งผลให้ผู้คนชะลอการตัดสินใจซื้อ ปัจจุบันจีนเป็นตลาดรถยนต์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดในโลก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (2561) ยอดขายรถยนต์โดยรวมในจีนขยับสูงขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครองสัดส่วนมากที่สุด สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลจีน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเพิ่มขึ้น เกือบ 2 เท่า เกือบๆแตะ 500,000 คัน เฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 84,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 48% สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งชาติของจีนคาดการณ์ว่า ปีนี้ทั้งปียอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมน่าจะเติบโตที่อัตรา 2-3% ซึ่งนับว่าน้อยกว่าปีก่อนๆ สาเหตุจากความไม่แน่ใจของผู้บริโภคนั่นเอง

car2 ขณะที่ผู้ผลิตและส่งออกจากสหรัฐฯกำลังเพลี่ยงพลํ้า บริษัทผู้ผลิตและส่งออกจากยุโรป กลายเป็นทางเลือกที่ผู้ซื้อในจีนให้ความสนใจ ยกตัวอย่าง ปอร์เช่รุ่นพานาเมร่า ได้ประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่ลดลงทำให้ปรับราคาขายลงมาได้ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคัน ทำให้ราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ 145,600 ดอลลาร์ แต่ผู้ผลิตบางรายก็ไม่โชคดีนัก เพราะหากมีโรงงานผลิตอยู่ในสหรัฐฯและส่งออกมายังจีน ก็จะไม่ได้รับการลดภาษี ยกตัวอย่างเช่น บีเอ็มดับเบิลยู และเดมเลอร์ (จากเยอรมนี) แม้จะส่งรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในยุโรปมาขายในจีนได้ในอัตราภาษีที่ลดลงและทำราคาได้ตํ่าลง แต่สำหรับรุ่นที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐฯ เช่นรถเอสยูวี กลับต้องนำเข้ามาในราคาที่สูงลิ่วเนื่องจากต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงขึ้น บางบริษัทเช่นฟอร์ด มอเตอร์ ผู้ผลิตสัญชาติอเมริกัน ยังคงพยายามตรึงราคาเดิมเอาไว้ และหวังว่าภาครัฐจะพยายามเจรจากันเพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์และลดภาษีลงมา

ในทางกลับกัน บริษัทรถยนต์อเมริกันบางรายที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อส่งออกกลับไปยังสหรัฐฯ พบว่า บริษัทต้องจ่ายภาษีนำเข้าสูงขึ้นเช่นกัน เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ทำเรื่องร้องเรียนยื่นต่อรัฐบาลเมื่อเดือนที่ผ่านมา ขอรับการยกเว้นการจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราสูงขึ้นให้กับรถรุ่น Envision ที่นำเข้าจากจีน โดยระบุด้วยว่าบริษัทไม่สามารถโยกโรงงานมาตั้งในสหรัฐฯเนื่องจากไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯยังยืนยันว่าจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศทุกคันเพิ่มขึ้นในอัตรา 25% แต่นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ได้ออกมาระบุว่า การขึ้นภาษีแบบเหวี่ยงแหทุกประเทศอาจจะไม่เกิดขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากสหรัฐฯกำลังเจรจาอยู่กับประเทศร่วมภาคีนาฟต้า (เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) และสหภาพยุโรป (อียู)

e-book-1-503x62-7

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,396 ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-1 กันยายน 2561