หวั่นโฆษณาซบลุ้นรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ สื่อทีวีดิจิตอล-ออนไลน์ยังแรงต่อเนื่อง

16 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
สมาคมมีเดียฯคาดภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้โต 3.5% วอนภาครัฐช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและเอกชนเพื่อดึงกำลังซื้อ มองตลาดทีวีดิจิตอลเติบโตเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท ย้ำโปรแกรมเมติค เครื่องมือใหม่ตัวช่วยนักวางแผนสื่อ

[caption id="attachment_31549" align="aligncenter" width="474"] วรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) วรรณี รัตนพล
นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)[/caption]

นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT เปิดเผยว่า สมาคมคาดการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปีนี้ จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.5% หรือมียอดรวมประมาณ 1.41 แสนล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 1.32 แสนล้านบาท ทั้งนี้หากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย เป็นไปตามที่ธนาคารโลกประเมินไว้ที่ 2% แล้ว ก็คงจะเป็นปีที่นักการตลาดและเอยนซี่ต้องเหนื่อยอีกครั้ง ดังนั้นสมาคมหวังว่า จะมีนโยบายจากภาครัฐมากระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนและภาคเอกชน ให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น เช่นเดียวกับนโยบาย"ช็อปช่วยชาติ"ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนยังมีกำลังซื้อ

"สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งภาวะฝนแล้งในปี 2558 ส่งผลกระทบให้รายได้ต่อครัวเรือนของประชากรลดลง เนื่องจากในประเทศไทยผู้บริโภคส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม ดังนั้นเมื่อการใช้จ่ายของประชาชนน้อยลง จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ให้ชะลอตัวยาวต่อเนื่องจนถึงในปีนี้ ซึ่งอุตสาหกรรมโฆษณาอาจจะเติบโตหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในปีนี้"

ขณะเดียวกันตลาดที่น่าสนใจในปีนี้ ยังคงเป็นตลาดสื่อทีวีดิจิตอลและตลาดออนไลน์ โดยปีนี้คาดการณ์สื่อทีวีดิจิตอลยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าในตลาดเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 25% จากปีก่อนมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าวมาจากการโยกงบประมาณการซื้อสื่อ จากกลุ่มทีวีอนาล็อกและสื่อทีวีดาวเทียม มาสู่ทีวีดิจิตอล ประกอบกับมีช่องทีวีดิจิตอลเหลือน้อยลงจาก 24 ช่องเหลืองเพียง 22 ช่องในปัจจุบัน จากกรณีที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ขอถอนตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล สามารถกระจายเงินไปยังช่องที่เหลือน้อยลงได้มากขึ้น

"โดยส่วนตัวมองว่าการคืนไลเซ่นครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่ออุตสาหกรรมทีวีและอุตสาหกรรมโฆษณา แต่สิ่งสำคัญการคืนไลเซ่นครั้งนี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์กสทช. ในฐานะเป็นผู้กำหนดกติกาและกำกับดูแลอุตสาหกรรมทีวี "

ทั้งนี้ในปัจจุบันการทำธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นงานหนัก เนื่องจากการแข่งขันสูงจากแพลตฟอร์มทีวีที่มีหลายประเภท ขณะเดียวกันหมวดหมู่ประเภทช่องรายการที่น่ากังวลจากนี้ ได้แก่ หมวดหมู่เด็ก เนื่องจากหมวดหมู่ช่องรายการประเภทนี้ขายโฆษณาได้ยาก ประกอบกับเป็นช่องโทรทัศน์เฉพาะกลุ่ม

นอกจากนี้สื่ออีกหนึ่งประภทที่น่าสนใจคือสื่อออนไลน์ เนื่องจากสื่อทุกประเภท เริ่มหันมาปรับรูปแบบธุรกิจ จากรูปแบบสื่อออฟไลน์มาใช้ควบคู่กับสื่ออนไลน์ ประกอบกับตลาดสมาร์ทโฟน ที่ได้รับนิยมและเติบโตในกลุ่มประชาชนคนไทยอย่างมาก ดังนั้นในปีนี้จะเห็นกลุ่มธุรกิจสื่ออนไลน์จะเติบโตมากขึ้น อีกทั้งสื่อที่มีแนวโน้มการเติบโตลดลง ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา เป็นต้น

ขณะเดียวกันในปีนี้เครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วยให้นักการตลาดสามารถวางแผนสื่อได้ดี คือ โปรแกรมเมติค โดยเป็นเครื่องมือการซื้อสื่อในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสื่อในรูปแบบของดิสเพลย์ โซเชียลและวิดีโอในโลกออนไลน์ เข้ามาใช้ในประเทศไทยแล้ว ซึ่งการซื้อสื่อแบบโปรแกรมเมติค สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างได้ผล ในราคาที่เหมาะสม โดยมีการนำข้อมูลส่วนตัว ประกอบกับพฤติกรรมในการท่องเวปไซต์ของผู้บริโภคเข้ามาร่วมวิเคราะห์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559