ผู้ช่วยดีเด่นในสังคมเมือง

29 ส.ค. 2561 | 04:45 น.
ในประเทศไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดเขตเมืองขนาดใหญ่อยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งพื้นที่ที่เป็นเมืองนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น พร้อมๆ กับประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พอพูดถึงสิ่งแวดล้อมเมือง สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงจะเป็นภาพเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความหนาแน่นของประชากร การจราจรที่คับคั่งติดขัด มลพิษต่างๆ ทั้งทางอากาศและทางนํ้า และปัญหาขยะที่คุกคามเมืองใหญ่ทุกเมือง ซึ่งการจัด การกับปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองโดยตรง

วันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงผู้ช่วยคนสำคัญที่อาสาเข้ามาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองเหล่านี้ โดยผู้ช่วยผู้นี้ขันอาสาเข้ามารับผิดชอบทั้งด้านการลดมลพิษ การระบายนํ้า และการให้บริการด้านการพักผ่อนหย่อนใจแก่ชาวเมือง เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ช่วยผู้นี้ยังสมัครใจให้บริการเหล่านี้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุดพักผ่อน และที่สำคัญ คือ ยินดีให้บริการเหล่านี้แบบฟรีๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดตอบแทน นับว่าเป็นผู้ช่วยดีเด่นของสังคมเมืองเลยทีเดียว

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงกำลังสงสัย ว่าผู้ช่วยที่ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ผู้เขียนขอรับรองว่ามีอยู่จริง เพียงแต่ว่าผู้ช่วยผู้นี้ไม่ใช่คนหรือหุ่นยนต์ แต่คือระบบนิเวศต่างๆ ในเมืองนั่นเองค่ะ ซึ่งระบบนิเวศเหล่านี้จะให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายหลายอย่าง รวมเรียกว่า นิเวศบริการ  (ecosystem services)

BB4A8922

ยกตัวอย่าง เช่น ระบบนิเวศที่มีต้นไม้ใบหญ้า หรือแม้กระทั่งพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ในเมือง ช่วยให้อุณหภูมิในบริเวณใกล้เคียงเย็นขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานในการทำความเย็นได้อีกด้วย พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองยังช่วยทำหน้าที่กรองและฟอกอากาศทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ต้นไม้ พื้นดิน และแม่นํ้าลำคลองในเขตเมืองช่วยรองรับนํ้าฝนที่ไหลลงมา ช่วยบรรเทาภาระของระบบระบายนํ้าในเขตเมืองในยามที่ฝนตกหนักได้อีกแรงหนึ่ง ทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นที่ออกกำลังกายของคนเมืองอีกด้วย ซึ่ง ทั้งหมดนี้ ระบบนิเวศให้บริการแก่คนเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากมีการคิดเงินสำหรับบริการเหล่านี้ ก็คงจะเป็นจำนวนเงินที่มากมายมหาศาลเลยทีเดียว

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ นิเวศบริการเหล่านี้เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) คือ เป็นสินค้าที่ใช้แล้วไม่หมดไปตามจำนวนผู้คนที่ได้บริโภคสินค้า (non-rival) และเป็นสินค้าที่เมื่อมีการผลิตและมีบริการแล้ว จะไม่สามารถจำกัดการใช้ประโยชน์อยู่ในหมู่คนเพียงบางกลุ่มได้ (non-
excludable)

ยกตัวอย่างเช่น ท่านผู้อ่านกับเพื่อนๆ เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ในแง่ของการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์นํ้า ช่วยลดทอนกำลังคลื่นลมที่พัดมาจากทะเล และอื่นๆ อีกมากมาย นิเวศบริการเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นบริการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และไม่ว่าคนที่ได้ประโยชน์จะมีจำนวนมากเพียงใด คุณภาพและปริมาณของบริการก็ไม่ได้ลดลงตามจำนวนคนที่ได้รับประโยชน์แม้แต่น้อย นอกจากนี้การกีดกันไม่ให้คนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่านั้นได้รับประโยชน์จากป่าก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน

การให้บริการจากระบบนิเวศนั้น ถึงแม้ว่าธรรมชาติจะทำให้เราฟรีๆ แต่หากจะให้มีนิเวศบริการที่มีคุณภาพ ก็จำเป็นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษา

จตุจักร (5)

อย่างไรก็ดี ลักษณะความเป็นสินค้าสาธารณะที่ประโยชน์เป็นของส่วนรวม แต่ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเป็นของส่วนบุคคลนั้นทำให้เกิดปัญหาการให้บริการที่น้อยเกินไป (under supply) ก่อให้ระบบนิเวศเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยคนสำคัญของเรานั้น ไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้แล้วระบบนิเวศเมืองยังถูกคุกคามจากการขยายตัวของเมือง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวไปเป็นป่าคอนกรีต อีกทั้งปริมาณมลพิษและขยะที่นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งแรงกดดันเชิงลบต่อระบบนิเวศเมืองเป็นอย่างมาก

ในปัจจุบัน มีความพยายามโดยภาคส่วนต่างๆ ที่จะอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีฟ้าในเขตเมืองและในพื้นที่ใกล้เมืองเอาไว้ แต่การดำเนินการในระดับประเทศนั้น ยังขาดการจัดสรรงบประมาณที่เฉพาะเจาะจง โดยงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศเมืองนั้น มักจะรวมกลุ่มอยู่กับงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูโดยทั่วไป มิได้มีการจัดสรรงบประมาณออกมาเป็นหมวดเฉพาะของเมืองอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การดำเนินงานในด้านนี้จำเป็นต้องแข่งขันทางด้านงบประมาณกับโครงการอื่นๆ ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ปริมาณงบประมาณที่จะได้รับจัดสรรจากส่วนกลาง และอาจประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้การพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการคงไว้ซึ่งผู้ช่วยสำคัญของคนเมือง และหากผู้ช่วยผู้นี้หายไป ปัญหาที่ชาวเมืองใหญ่ต้องเผชิญก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคงไว้ซึ่งนิเวศบริการในเขตเมืองนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากคนเมืองทุกคนคนละเล็กคนละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลดแรงกดดันต่อระบบนิเวศโดยการลดการใช้ขยะ และการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง การไม่รุกลํ้าลำนํ้าคูคลอง และการเดินทางโดยอาศัยการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยลดแรงกดดันต่อระบบนิเวศเมืองได้ และจะทำให้ผู้ช่วยคนเก่งของชาวเมืองอยู่กับเรา ต่อไปนานๆ ค่ะ

..............................................................................

| เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3396 ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7