ประกันภัยพืชผล ลดงบประมาณ รัฐเสริมความมั่นใจเกษตรกร

25 ส.ค. 2561 | 17:31 น.
 หลังประสบความสำเร็จจากการทำประกันภัยนาข้าว ที่ทำให้เกษตรกรได้รับการคุ้มครองดูแลถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต ทำให้รัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมขยายการประกันภัยพืชผลการเกษตรให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทั้งหมด ด้วยการตั้งสำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561

นายเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย ธ.ก.ส.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง รัฐบาลจึงมีระบบเยียวยา ซึ่งปี 2553 เกิดนํ้าท่วมใหญ่ รัฐบาลจ่ายชดเชยไร่ละ 2,098 บาท ซึ่งปีนั้นต้องจ่ายเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทและปี 2554 ซึ่งเกิดมหาอุทกภัย รัฐบาลจ่ายชดเชยไร่ละ 2,222 บาท ซึ่งในปีนั้นจ่ายเงินสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท รวม 2 ปีถือว่าเป็นวงเงินที่สูงมาก และจากสถิติตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยปีละ 7-8 พันล้านบาท

[caption id="attachment_308895" align="aligncenter" width="335"] เกตโกมล ไพรทวีพงศ์ เกตโกมล ไพรทวีพงศ์[/caption]

ธ.ก.ส.นำระบบประกันภัยนาข้าวมาใช้ในปี 2554 และเป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัยอัตราความเสียหายสูงถึง 500% คือจากที่รับเบี้ยประกันภัยมากว่า 100 ล้านบาท แต่บริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนถึง  กว่า 700 ล้านบาท และถัดมาปี 2560 พื้นที่อีสานเกิดนํ้าท่วมใหญ่ ทั้งสกลนครและพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนั้นบริษัทได้รับค่าเบี้ย กว่า 2,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสินไหมไป 2,300 ล้านบาท

สำหรับปี 2561 ธ.ก.ส.ได้ปรับหลักเกณฑ์เล็กน้อยให้กับลูกค้าด้วยการทำประกันภัยกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสาขา ระบบเอกสาร หลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่จะลงไปทำงานในพื้นที่เองและจะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ต้นฤดูกาล โดยครม.อนุมัติโครงการวันที่ 10 เมษายน และจะคุ้มครองทันทีในวันที่ 11 เมษายน ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ต้นฤดู ไม่ว่าฟ้าฝนจะมาตอนไหนก็ตาม โดยล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 27.4 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 30 ล้านไร่ เพราะยังเหลือพื้นที่ภาคใต้ที่จะลงทะเบียนไปได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้

090861-1927-9-335x503

นับจากปี 2554 จนถึงปัจจุบันเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น บริษัทรับทำประกันภัยก็มากขึ้น และเมื่อเกิดความเสียหาย ก็มีกระบวนการการจ่ายสินไหมขึ้นจริง โดยที่เกษตรกรจะได้รับค่าสินไหม 1,260 บาทต่อไร่รวมกับการเยียวยาจากรัฐบาลอีก 1,113 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงิน 2,737 บาทต่อไร่ ประมาณ 50% ต้นทุนการผลิตข้าวที่อยู่ประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ สะท้อนว่าระบบประกันภัยสามารถเดินหน้าต่อได้กับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะพืชที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

โดยที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2562 คือ การทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง โดยจะใช้หลักการเดียวกับการประกันภัยนาข้าว ทั้งนี้ข้าวโพดมีพื้นที่เพาะปลูก 6 ล้านไร่ และมันสำปะหลัง 9 ล้านไร่ โดยอยู่ระหว่างการเจรจาค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับชาวไร่ โดยที่หารือกันคือ ค่าสินไหมที่ต้องจ่าย 1,480 บาทต่อไร่ เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าข้าว โดยมันสำปะหลังอยู่ที่ 6,600 บาทต่อไร่ และข้าวโพด 4,400 บาทต่อไร่ แต่ความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะไม่ต้องเจอปัญหานํ้าท่วม เนื่องจากปลูกในที่ดอน ดังนั้นค่าคุ้มครองควรจะเพิ่มขึ้น และควรจ่ายค่าเบี้ย ไม่เกิน 90 บาทต่อไร่

นอกจากนั้น ยังจะขยายไปยังการประกันภัยโคนม ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อย คาดว่า 2-3 เดือน น่าจะประกาศได้ โดยในไทยมีโคนมทั้งหมด 5-6 แสนตัว โคสาวเตรียมผสมและให้นม จะมีต้นทุน 5 หมื่นบาทต่อตัว ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับเกษตรกร ดังนั้นการประกันภัยจะนำมาใช้ 2 ส่วนคือ กรณีเสียชีวิตไม่ว่าป่วยหรืออุบัติเหตุ จะจ่ายเป็นค่าสินไหมและกรณีป่วย เป็นโรคปากเท้าเปื่อยไม่สามารถ ให้นมได้ จะต้องจ่ายชดเชยรายได้ค่ายา ค่าอาหารให้กับเกษตรกร โดยค่าเบี้ยประกันที่คุยจะหลัก 100 แต่วงเงินคุ้มครองจะประมาณ 2 หมื่นบาทต่อตัว

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,395 วันที่ 26 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62