เผยผลสำรวจ "ทักษะทางการเงิน ปี 59" (Financial Literacy) ชี้! คนไทยอ่อนด้านความรู้ทางการเงินที่สุด

24 ส.ค. 2561 | 11:03 น.
สรุปผลการสำรวจทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ปี 2559 และแนวทางการดำเนินการของ ธปท.

ทักษะทางการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน ผู้ที่มีทักษะทางการเงินดีจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สามารถวางแผน และบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการใช้จ่าย การเก็บออม และการจัดการหนี้สิน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง เช่น การบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะกับความสามารถของตน และการเตรียมพร้อมสำหรับเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี คนไทยในปัจจุบันยังมีทักษะทางการเงินไม่เข้มแข็งนัก ประกอบกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งส่งเสริมทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย เพื่อให้ทราบพัฒนาการระดับทักษะทางการเงิน ซึ่งใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้เหมาะสมต่อไป

การสำรวจทักษะทางการเงินปี 2559 เป็นการสำรวจตามแนวทางของ OECD โดยร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 10,876 ราย ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.ภาพรวมผลการสำรวจปี 2559
การสำรวจทักษะทางการเงินตามแนวทางของ OECD ประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 ด้าน คือ (1) ความรู้ทางการเงิน (2) พฤติกรรมทางการเงิน และ (3) ทัศนคติทางการเงิน ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยทักษะทางการเงินของคนไทย

ในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 61.0 โดยคนไทยอ่อนด้านความรู้ทางการเงินที่สุด มีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 48.6 สำหรับด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนที่ร้อยละ 62.2 และด้านทัศนคติทางการเงินมีคะแนนที่ร้อยละ 76.0 ซึ่งในภาพรวมทักษะทางการเงินของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2556 และเท่ากับปี 2558 แต่องค์ประกอบในด้านพฤติกรรมทางการเงินมีแนวโน้มลดลงจากปี 2556 และ 2558 เช่น การไม่ตั้งเป้าหมายระยะยาว ขาดการดูแลบริหารเงินของตนเองอย่างใกล้ชิด ไม่ชำระค่าใช้จ่ายตรงตามเวลาเรียกเก็บ และขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนการเลือกซื้อ ส่วนในด้านทัศนคติทางการเงินปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจ 2 ครั้งก่อน

สำหรับช่วงวัยที่มีคะแนนทักษะทางการเงินต่ำกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ กลุ่มเจนเนอเรชั่น Z (อายุต่ำกว่า 16 ปี) กลุ่มเจนเนอเรชั่น Baby Boomer ขึ้นไป (อายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป) นอกจากนั้น หากพิจารณาทักษะทางการเงินตามภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเป็นภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินต่ำที่สุด ในขณะที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคใต้ มีคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินสูง


2.จุดอ่อนทักษะทางการเงินในมิติต่าง ๆ

2.1 มิติองค์ประกอบของทักษะทางการเงิน
(2.1.1) ด้านความรู้ทางการเงิน พบว่า คนไทยได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย OECD เกือบทุกหัวข้อ ยกเว้น เรื่องการคำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยเงินฝาก โดยจุดอ่อนของคนไทยที่ยังคงพบต่อเนื่อง เช่น มูลค่าเงินตามกาลเวลา ดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่นเดียวกับการสำรวจครั้งก่อน ๆ นอกจากนี้ หัวข้อที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย OECD คือ นิยามเงินเฟ้อ ซึ่งความไม่เข้าใจเรื่องภาวะเงินเฟ้ออาจเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยวางแผนการเงินเพื่อยามเกษียณไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของเงินที่ลดลงไปตามกาลเวลา

(2.1.2) ด้านพฤติกรรมทางการเงิน พบว่า แม้ในภาพรวมจะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD แต่มีจุดที่ควรพัฒนาต่อไปในด้านการจัดสรรเงินก่อนใช้จ่าย การบริหารจัดการเงินเพื่อมิให้ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ การศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการออมควรได้รับการส่งเสริมให้ดีขึ้น เนื่องจากพบว่า กว่า 1 ใน 3 ของคนไทยไม่มีเงินออม โดยผู้ที่มีเงินออมส่วนใหญ่มักออมเงินเผื่อฉุกเฉิน/เจ็บป่วย และเพื่อใช้จ่ายยามชราหรือเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม พบว่า คนไทยกว่า 1 ใน 3 ยังมีจำนวนเงินออมเผื่อฉุกเฉินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (พอสำหรับค่าใช้จ่าย 3 เดือน) และมีเพียง 14% ที่วางแผนเก็บออมเพื่อยามชราและสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้

(2.1.3) ด้านทัศนคติทางการเงิน พบว่า ทัศนคติที่คนไทยควรได้รับการพัฒนาที่สุด คือ นิยมความสุขในการใช้เงินมากกว่าการออมเพื่ออนาคต

2.2 มิติช่วงวัยของประชากรในแต่ละเจนเนอเรชั่น (Gen)
(2.2.1) Gen Z (ผู้ที่เกิดปี 2544 เป็นต้นไป) มีความรู้ทางการเงินพื้นฐานยังไม่ดีนัก สำหรับ ด้านพฤติกรรมก็ยังไม่เห็นความสำคัญของการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาว เน้นเพียงสามารถใช้เงินที่ได้มาให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังไม่เห็นความสำคัญของการเก็บออมและไม่ได้เก็บออมในวิธีที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังขาดทักษะในการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อ และไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมในการศึกษาหาข้อมูล สำหรับด้านทัศนคติ ควรส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการออม

(2.2.2) Gen Y (ผู้ที่เกิดปี 2524 – 2543) มีความรู้การเงินพื้นฐานที่ค่อนข้างดี แต่ในด้านพฤติกรรม พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว และขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี เช่น จัดสรรเงินก่อนใช้ ออมเงินในวิธีที่เหมาะสม หรือ ไม่กู้เงินเมื่อเงินไม่พอใช้ รวมทั้งขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อสินค้า และมีการใช้จ่ายเกินตัว สำหรับด้านทัศนคติ ควรส่งเสริมทัศนคติด้านการออมเช่นกัน

(2.2.3) Gen X (ผู้ที่เกิดปี 2509–2523) มีความรู้ทางการเงินค่อนข้างดี แต่พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบริหารจัดการเงินให้รองรับกับความรับผิดชอบทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินไม่พอใช้ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการออมที่ไม่เหมาะสมมากนัก รวมทั้งไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ ส่วนในด้านทัศนคติพบว่ามีทัศนคติที่ดีในทุกด้าน

(2.2.4) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2509) มีความรู้ทางการเงินไม่ดีนัก โดยในด้านพฤติกรรมพบว่า กลุ่มนี้ไม่เห็นความจำเป็นของการตั้งเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว และไม่ได้เลือกออมเงินในวิธีที่เหมาะสม ทั้งยังขาดการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ และไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนการตัดสินใจ สำหรับด้านทัศนคติ อาจด้วยอายุที่มากขึ้นคนกลุ่มนี้จึงมุ่งเน้นดำเนินชีวิตเพื่อวันนี้ และไม่คำนึงถึงอนาคตมากนัก


3.แนวทางการดำเนินการของ ธปท.
ธปท. ได้มีการส่งเสริมทักษะทางการเงินแก่คนไทยในหลากหลายช่องทางโดยใช้รูปแบบที่เข้าใจง่ายและสอดคล้องกับเหตุการณ์ในช่วงชีวิต ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตลอดจนร่วมกับสื่อมวลชนและองค์กรพันธมิตรเพื่อสื่อสารความรู้ทางการเงินให้สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยมุ่งเน้นประเด็นที่เป็นจุดอ่อน เช่น การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น มูลค่าเงินตามกาลเวลา ความเสี่ยงและผลตอบแทน นอกจากนั้น ในด้านพฤติกรรมทางการเงินที่คะแนนมีแนวโน้มลดลง ธปท. ก็มีนโยบายส่งเสริมพฤติกรรมทางการเงินที่ดีโดยใช้มาตรการเชิงป้องกัน (Preventive) กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y) ซึ่งเป็นวัยแรงงานหลักของประเทศด้วยการให้ความรู้ควบคู่การลงมือปฏิบัติจริงร่วมกับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะพฤติกรรมที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย

อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านการออมและการจัดการหนี้สิน ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตได้ตามที่ตั้งใจไว้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานกับ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ นักศึกษาอาชีวศึกษา และผู้ที่เริ่มทำงาน (First Jobber)


S__29958215

……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เงินบาทแข็งค่า 32.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ แตะจุดต่ำสุดในรอบสัปดาห์ เหตุธปท.ส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัว
ธุรกรรมการเงินบนมือถือเพิ่มกว่า45%


e-book-1-503x62-7