สืบสานงานเงิน เสริมทักษะฐานราก ชูมนต์เสน่ห์หัตถศิลป์ไทย

25 ส.ค. 2561 | 17:32 น.
หากจะกล่าวถึง “เครื่องเงิน” เครื่องประดับที่ผ่านการสลักเสลาด้วยกรรมวิธีที่แสนละเอียดอ่อน ถักทอ ตอก ดุน จนเกิดเป็นชิ้นงานที่แสนงดงามหลากหลายขนาด ตั้งแต่ชิ้นเล็กที่สุดขนาดไม่ถึง 1 มิลลิเมตร ไปจนถึงความยิ่งใหญ่มากกว่า 1 เมตรขึ้นไป ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานที่นอกจากเป็นโลหะมีค่า นำมาพัฒนาเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายตลอดจนประกอบเป็นสินค้าได้หลากหลายประเภท เชื่อว่าคนไทยมากกว่า 90% ในประเทศไทย ต่างมีโอกาสสัมผัสและครอบครองเครื่องประดับเงินอย่างแน่นอน

การเล็งเห็นความสำคัญของงานหัตถศิลป์โบราณ ที่เริ่มต้นการฝึกฝนฝีมือถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นของช่างเงินประจำบ้าน พัฒนาสู่การเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมของชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความเชื่อว่า “โลหะเงิน” มีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษในร่างกาย ประกอบกับอัตลักษณ์ของฝีมือช่างไทยในแต่ละภูมิภาคที่มีความโดดเด่นทั้งรูปแบบ ลวดลาย และกรรมวิธีการทำเฉพาะตัว ทำให้เครื่องเงินไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ แต่กลับค้นพบว่าภายใต้สินค้าประเภทเครื่องเงินที่มีการผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละท้องถิ่น รูปแบบ รูปทรง กลับไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากช่างเงินแต่ละบ้านไม่ได้จบด้านการออกแบบมาโดยตรง  ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินจึงยังคงแบบดั้งเดิมในพื้นที่ อีกทั้งช่างเงินฝีมือดีๆ เกาะกลุ่มอยู่ในช่วงอายุ 40 -50 ปี บ้านช่างเงินบางบ้านขาดทายาทสืบทอดฝีมือและกิจการ และปัญหานี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

8460940135251

สยามเจมส์ กรุ๊ป ในฐานะผู้นำในธุรกิจการค้าเครื่องประดับและอัญมณีของไทยมากว่า 50 ปี จนขยายขอบเขตไปสู่การบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดของการเยือนประเทศไทยหลากหลายรูปแบบ การมองเห็น
ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องเงินไทย  ทำให้ภารกิจต่อยอดและพัฒนาเครื่องประดับเงินได้รับการยกให้เป็นภารกิจหลักของการเดินหน้าร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่างฝีมือไทยระดับฐานราก ภายใต้โครงการ “สืบสานงานเงิน” เพื่อพัฒนาฝีมือและขยายโอกาสผลิตภัณฑ์เครื่องเงินสู่สายตาชาวโลก

“สยามเจมส์ กรุ๊ป จะไม่หยุดอยู่แค่การสร้างรากฐาน แต่จะเข้าไปร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมอันลํ้าค่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชนท้องถิ่น และขยายผลในระยะยาวต่อระบบการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ ให้เกิดการพัฒนาสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน”

090861-1927-9-335x503-3

คุณณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวระหว่างการเดินทางลงพื้นที่สืบสานงานเงินในจังหวัดน่าน กล่าวว่า  การสำรวจและพบปะร้านเครื่องประดับเงินตลอดจนช่างเงินแต่ละบ้าน ทำให้ สยามเจมส์ กรุ๊ป ค้นพบคำตอบว่าแม้ “โลหะเงิน” และ “เครื่องประดับเงิน”จะผลิตและจำหน่ายในหลายประเทศ แต่เครื่องประดับเงินของไทยคืออันดับหนึ่งของความงดงาม ทรงเสน่ห์ และเป็นที่ต้องการลำดับต้นๆ เพราะงานทุกชิ้นคืองานทำมือ การจะคงให้เสน่ห์ของงานฝีมือแบบนี้ให้คงอยู่ต่อไปคือการเข้าไปสนับสนุนความต้องการของคนในพื้นที่ ในภาคธุรกิจ ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างตรงจุด การลงพื้นที่ของโครงการ “สืบสานงานเงิน” ใน 2 จังหวัดคือ จังหวัดน่าน และจังหวัดสุรินทร์ นอกจากเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินได้มีโอกาสนำเสนอผลงานแล้ว สิ่งที่สยามเจมส์ กรุ๊ป ดำเนินงานก็คือ การต่อยอดด้านการตลาด ขยายช่องทางการผลิตและการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแบบ Mini Matching คือการได้รับสิทธิ์เซ็นสัญญาจำหน่ายสินค้ากับ สยามเจมส์ กรุ๊ป ทันทีในวันงาน และการต่อยอดด้านองค์ความรู้ทางการออกแบบ ผ่านการคัดสรรผู้ประกอบการ และช่างฝีมือที่มีศักยภาพ มีผลงานที่โดดเด่น ให้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโครงการ จากคณาจารย์เฉพาะด้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนผู้ประกอบการต้นแบบที่คัดสรรจาก สยามเจมส์ กรุ๊ป

8460940135793

สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านเข้ารอบจากการคัดเลือกที่จังหวัดน่านและจังหวัดสุรินทร์มีทั้งหมด 12 ราย ประกอบด้วย ร้านเครื่องเงินวัวลาย จ.เชียงใหม่, ร้านนำชัยเครื่องเงิน จ.น่าน, ร้านแอลฟ่าคราฟท์เวอร์ค จ.น่าน, ร้านมนตรีเครื่องเงิน จ.สุโขทัย, ร้านไหมเงิน จ.สุโขทัย, ร้านปัณณะศรัล จ.นนทบุรี, ร้านแอท สยาม จิวเวลรี จ.ปทุมธานี, ร้านปัญพัท จ.กาญจนบุรี, ร้านธนาภรณ์จิวเวอรี่ จ.จันทบุรี, กลุ่มหัตถกรรม ศิลปาชีพอีสานใต้ จ.สุรินทร์, ร้านรุ่งเรืองเครื่องประดับ จ.สุรินทร์, ร้านบุ ดุน โลหะ จ.นครศรีธรรมราช โดยผู้ประกอบการที่ผ่านเข้ารอบ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบพัฒนาสินค้าที่สอดรับกับความชื่นชอบ และพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว กับผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้รับงบประมาณในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาสินค้า 50,000 บาทต่อรายตลอดโครงการ และรับสิทธิ์เซ็นสัญญาจำหน่ายสินค้ากับทางสยามเจมส์ กรุ๊ป ซึ่งกำลังเตรียมจัดทำพื้นที่นำเสนองานหัตถศิลป์เครื่องเงินไทยเต็มรูปแบบ
ที่ สยามเจมส์ เฮอริเทจ และ Rest88 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ที่สำคัญผลงานที่ผ่านการพัฒนาทั้งหมดภายใต้โครงการ “สืบสานงานเงิน”  จะได้รับการจัดแสดงสู่สาธารณชน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ติดตามความสง่างามของงานเครื่องประดับเงินไทย ที่ไม่เพียงก้าวได้ไกล แต่ยังแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมได้ทาง Facebook : สืบสานงานเงิน และ Line@ : @SilverCraftForThai

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,395 วันที่ 26 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว