หวั่นวิกฤติตุรกี-เวเนฯทุบส่งออก

25 ส.ค. 2561 | 08:34 น.
กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เร่งตรวจสอบสาเหตุส่งออกไปสหรัฐฯติดลบครั้งแรกรอบ 21 เดือน เบื้องต้นระบุเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซัน มั่นใจปลายปียอดกระเตื้อง ด้านอาหารสำเร็จรูป ชี้ผลพวงสงครามการค้า ผู้นำเข้าสหรัฐฯเร่งนำเข้าสินค้าจีน ก่อนขึ้นภาษี ชะลอนำเข้าจากไทย

กรณีการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกาภาพรวม 7 เดือนแรกของปีนี้ยังขยายตัวที่ 6.2%  แต่เฉพาะเดือนกรกฎาคมล่าสุดการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯติดลบ 1.9% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกรอบ 21 เดือน โดยจากการตรวจสอบสินค้าในกลุ่ม 20 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯที่มีมูลค่าลดลงในช่วง 7 เดือนแรก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-4.9%), เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ(-32.2%), ผลไม้กระป๋องและแปรรูป  (-11.7%), เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (-1.5%), เครื่องรับโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-16.4%) และยางพารา (-17.4%)

นางกนิษฐ  เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงในกลุ่มข้างต้น มองว่าเป็นผลจากโดยปกติช่วงกลางปีกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี การสั่งซื้อจะเป็นช่วงโลว์ และยังเป็นผลจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องซักผ้าเมื่อต้นปี ทำให้การส่งออกชะลอตัว แต่คาดในภาพรวมจะดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนและในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน

[caption id="attachment_308587" align="aligncenter" width="456"] กนิษฐ เมืองกระจ่าง กนิษฐ เมืองกระจ่าง[/caption]

“ทางกลุ่มกำลังตรวจสอบว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนมีผลกระทบทางลบกับการส่งออกสินค้าของสมาชิกเราหรือไม่ แต่เบื้องต้นคาดจะได้รับผลในทางบวกมากกว่า ทั้งการส่งออกสินค้าไปทดแทนจีน และดึงจีนมาลงทุนในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ”

ด้านนายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การส่งออกกลุ่มอาหารทะเลของไทยไปสหรัฐฯที่ลดลง มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาจากต่างประเทศเข้ามาแปรรูปส่งออก ปัจจุบันตามระเบียบของไอยูยู ปลาต้องได้รับใบรับรองว่ามาจากแหล่งที่จับสัตว์นํ้าอย่างถูกกฎหมาย ทำให้ปริมาณวัตถุดิบมีน้อยลง รวมถึงในสินค้ากุ้งวัตถุดิบในประเทศมีลดลงจากปัญหาโรคตายด่วนเมื่อหลายปีก่อน ผลผลิตจากเคยได้กว่าปีละ 5-6 แสนตัน ปัจจุบันระดับ 2-3 แสนตัน/ปี ขณะที่คู่แข่งเช่นอินเดียปัจจุบันผลิตกุ้งได้มากกว่า 1 ล้านตัน/ปี เวียดนามใกล้ 1 ล้านตัน และต้นทุนถูกกว่า สินค้าไทยเสียเปรียบการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ

090861-1927-9-335x503-3

ขณะที่ในกลุ่มผลไม้ ที่สำคัญคือ สับปะรดกระป๋องที่มีตลาดใหญ่ที่สหรัฐฯ (สัดส่วน  34%) ไทยมีปัญหาผลผลิตวัตถุดิบสับปะรดปีนี้ล้นตลาด ส่งผลราคาสินค้าสับปะรดส่งออก ลดลงจากปีที่แล้ว 30-40%

“เรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ในหลายกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯเคยนำเข้าจากจีน เมื่อผู้นำเข้ารู้ หรือคาดการณ์ว่าสินค้านั้นจะถูกขึ้นภาษี ก็จะเร่งนำเข้าจากจีนก่อนที่ภาษีจะถูกปรับขึ้น ชะลอการนำเข้าจากไทย เมื่อของหมดถึงจะสั่งจากเรา เดือนที่เหลือปีนี้ยังต้องจับตาวิกฤติเศรษฐกิจ และค่าเงินของตุรกี และเวเนซุเอลาที่อ่อนค่ามาก จะกระทบทางอ้อมต่อการค้าของโลกและไทยได้”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,395 วันที่ 26-29 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62