เบื้องหลังเสี่ยเจริญ ปิดดีลเร็ว บิ๊กซี

11 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
เปิดเบื้องหลัง เจ้าสัวเจริญ" ปิดดีลบิ๊กซีเร็ว เชื่อเงินถึง/บริหารจริง/ไม่เปลี่ยนชื่อ ด้านนักวิชาการชี้ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจลงตัว "ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ" เพิ่มขีดอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์ ปิดช่องคู่แข่งทำมาหากิน พร้อมก้าวสู่ยุคแข่งขันเชิงพัฒนา ด้านสมาคมค้าปลีกค้าส่งไทย วอนรัฐบาลเร่งคลอดพรบ. แข่งขันทางการค้า หวังจัดระเบียบเป็นรูปธรรม ฟากนักสร้างแบรนด์แนะ เทคโอเวอร์แค่เสริมพอร์ตธุรกิจเข้มแข็ง หากต้องการโตแบบยั่งยืนต้องรับผิดชอบต่อสังคมและองค์กร

[caption id="attachment_30894" align="aligncenter" width="503"] ดีลใหญ่ที่ ทีซีซี กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการบริษัทต่างประเทศ ดีลใหญ่ที่ ทีซีซี กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการบริษัทต่างประเทศ[/caption]

การประกาศขายหุ้นบิ๊กซี ประเทศไทยของกลุ่มคาสิโนที่ปิดดีลลงอย่างรวดเร็ว โดยผู้คว้าชัยชนะอย่างบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ปของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ได้สิทธิถือหุ้นใหญ่จำนวน 58.56% หรือเป็นเงินกว่า 1.22 แสนล้านบาทเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความประหลาดใจอย่างมาก ส่งผลให้ทีซีซี กลายเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตเบอร์ 2 ของเมืองไทย ซึ่งมีสาขาในหลากรูปแบบทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต 125 แห่ง บิ๊กซีมาร์เก็ต 55 แห่ง มินิบิ๊กซี 394 แห่ง และร้านขายยาเพียว 146 แห่ง ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจในเครือทีซีซี กรุ๊ปให้มีความสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

 ใจป้ำเงินถึง ปิดดีลเร็ว

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การซื้อกิจการบิ๊กซี ประเทศไทยด้วยจำนวนเงินที่สูงกว่า 1.22 แสนล้านบาทครั้งนี้ถือว่าทีซีซีให้ความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีกมากและมองว่าจะสามารถต่อยอดธุรกิจให้กับบริษัทในเครือได้มากมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้พลาดการเจรจาซื้อกิจการของค้าปลีกรายใหญ่อย่างคาร์ฟูร์ แม็คโคร และแฟมิลี่ มาร์ทมาแล้ว "ดีลนี้ถือว่าเร็วมาก เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่เสนอให้มากสุด เมื่อเทียบกับรายอื่น และกลุ่มคาสิโนเองก็มองเห็นถึงความเป็นไปได้ว่าทีซีซี จะเข้าบริหารอย่างจริงจัง ต่างกับกลุ่มเซ็นทรัล หรืออิออน ที่เมื่อซื้อไปแล้ว อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เช่น เปลี่ยนชื่อ เป็นต้น นอกจากนี้อาจจะมองเลยไปถึงการดีลซื้อบิ๊กซี เวียดนามที่ประกาศขายไปก่อนหน้านี้ด้วย"

เบื้องต้นเชื่อว่าจะยังไม่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีกเมืองไทย เพราะที่ผ่านมาบิ๊กซี ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ระยะยาวยังต้องจับตาดูต่อไป ทั้งนี้มองว่า การเข้าไปลงทุนในเวียดนามจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้กับกลุ่มทีซีซีได้มากกว่า

อาหาร-เครื่องดื่มได้ประโยชน์สุด

ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว กล่าวว่า สิ่งที่ทีซีซี กรุ๊ปได้รับจากการเข้าซื้อกิจการของบิ๊กซีในครั้งนี้คือ ช่องทางการจำหน่ายสินค้า (Channel) ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญมาก ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการซื้อกิจการใน 3 กลุ่มหลักไม่ว่าจะเป็นเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) , เสริมสุข และบิ๊กซี ล้วนเป็นเรื่องของช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ทีซีซีฯ กลายเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีช่องทางการจำหน่ายครบวงจรที่สุดรายหนึ่ง เช่นเดียวกับ กลุ่มเซ็นทรัล , เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

"อีกสิ่งที่ทีซีซี กรุ๊ปได้รับคือ อำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์และคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาทีซีซี กรุ๊ป มีความพร้อมทั้งต้นน้ำ และกลางน้ำ แต่ขาดปลายน้ำ ที่จะต่อถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย (End User) บิ๊กซีคือจิ๊กซอว์ที่จะช่วยทั้งการกระจายสินค้า และการเป็นกำแพงป้องกันทำให้คู่แข่งเข้าถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายยากขึ้น"

โดยบิ๊กซีสามารถต่อยอดให้กับหลายกลุ่มสินค้า แต่กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (F&N) กับการผลักดันสินค้าให้เข้าใกล้ผู้บริโภคยิ่งขึ้น

 จับตาแห่ผลิตเฮ้าส์แบรนด์ขาย

คณบดี กล่าวอีกว่า แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่การพลิกโฉมวงการค้าปลีกเมืองไทย และไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้ามากนัก เพราะการแข่งขันจะยังคงรุนแรงเช่นเดิม แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป โดยจะเน้นนำเสนอและเป็นการแข่งขันเชิงพัฒนา โดยต่างฝ่ายซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ จะคานอำนาจซึ่งกันและกัน

แต่จุดเปลี่ยนจะไปอยู่กับผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อยมากกว่า เพราะเมื่อทุนใหญ่มาคุมเรื่องของช่องการกระจายสินค้า จะทำให้เกิดการถอยกลับไปผลิตเอง (Backward integration) ได้แก่ การผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ออกมาวางจำหน่ายมากขึ้น ทำให้อำนาจในการต่อรองของซัพพลายเออร์น้อยลง และต้องยอมรับเงื่อนไขที่ทุนใหญ่กำหนด ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีนับจากนี้

 วอนรัฐคลอดกม.คุม

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีกค้าส่งไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ต่างแตกรูปแบบธุรกิจออกไปจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไซซ์เล็กอย่าง มินิบิ๊กซี , ร้านขายยาสมัยใหม่ อย่างเพียว พร้อมกับขยายเจาะลงไปตามตำบล อำเภอ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยอยู่แล้ว และเมื่อกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาซื้อกิจการ พร้อมกับประกาศลงทุนต่อเนื่อง ก็จะยิ่งกระทบมากขึ้น

อนาคตเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกจะอยู่ในมือตระกูลใหญ่ 3-4 ตระกูล ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ค้าปลีกจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องของค่าเช่าพื้นที่ที่ราคาสูงอยู่แล้ว ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปอีก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แข่งขันการค้ามาช่วยจัดระเบียบ และเอื้อประโยชน์ให้กับรายย่อย

 ชี้แค่ตัวช่วยธุรกิจเติบโต

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด กล่าวว่า การที่ทีซีซีฯซื้อหุ้นบิ๊กซี นับเป็นการช่วยทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น เพราะการมีตัวเลือกมากกว่า 1 จะทำให้พอร์ตเข้มแข็งขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องพิจารณาว่าเป้าหมายการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หรือต้องการอะไร หากต้องการเติบโตทางธุรกิจ การขยายธุรกิจรูปแบบนี้อาจเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต แต่หากต้องการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนวิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด

"การมีตัวเลือกมากกว่า 1 เป็นการช่วยทำให้พอร์ตธุรกิจเข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันสามารถทำให้กลุ่มธุรกิจเครือข่ายสามารถสร้างความเป็นผู้นำได้ เช่นเดียวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ หากในองค์กรมีนักเขียนมีชื่อเสียง เขียนเก่งหลายสไตล์ในองค์กรก็จะช่วยให้องค์กรนั้นมีชื่อเสียงมากกว่าองค์กรอื่นๆ อย่างไรก็ตามวิธีการซื้อหุ้นอาจจะช่วยให้ธุรกิจขยายเติบโตได้ตามเป้าหมาย แต่การเป็นผู้นำอย่างยั่งยืนวิธีนี้อาจจะไม่ได้ผล เพราะการซื้อธุรกิจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่การมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อองค์กร เช่น ดูแลพนักงานอย่างไร พัฒนาสังคมอย่างไร เป็นต้น วิธีนี้ต่างหากที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตและก้าวเป็นผู้นำอย่างยั่งยืน"

(อ่านต่อทำไม...เจ้าสัว "เจริญ" กล้าซื้อ "บิ๊กซี" ราคาแพง หน้า 13)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559