ซัด! "ร่างกฎหมายตำรวจฯ" หมกเม็ด

13 ส.ค. 2561 | 11:53 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันที่ 13 ส.ค. 2561 ที่ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนปฎิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดประชุมเสวนาวิชาการ "ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน" โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับ ของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน รวมถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่....) พ.ศ. ... ของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ชุดนายอัชพร จารุจินดา) นั้น ยังเป็นการปรับปรุงแก้ไขในส่วนย่อย ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างหรือกลไกหลัก โดยเฉพาะในส่วนของตำรวจที่เป็นต้นทางการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งยึดโยงไปถึงเรื่องความเสรีภาพและความยุติธรรม หากแก้ได้จะแก้ปัญหาสังคมได้มหาศาล


S__29917187

นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาลตร์ (นิด้า) ชี้ว่า กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นโครงสร้างรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ประชาชนเข้าไม่ถึง เกิดภาวะไฟตัน น้ำมันช็อต ซึ่งต้องยืนหยัดให้แก้ไขที่หังใจหลักตรงนี้

ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ยังไม่ให้หลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนอย่างเพียงพอ ยังไม่เปิดให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวน แม้ระบุให้อัยการร่วมในคดีสำคัญ แต่เป็นการเข้าร่วมหลังแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ความยุติธรรมสูญหายไปเสียก่อนแล้ว ถ้าตำรวจไม่แจ้งอัยการก็ไม่ได้เข้ามีส่วนร่วมแต่ต้นเพื่อกำกับทิศทาง และขาดการถ่วงดุลในระบบ ซึ่งควรจะมีคณะกรรมการจริยธรรมของกระบวนการสอบสวนแยกออกมาต่างหากจากคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ที่เป็นการรับร้องเรียนปัญหาทั่วไปของตำรวจด้วยกันเองมากกว่า

ทั้งนี้ เสนอให้กรณีพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี ต้องสร้างหลักประกันให้ประชาชน สามารถขอสำนวนสอบสวนและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อฟ้องศาลตรงได้เองอีกทางหนึ่ง

ส่วนกรณีอายุความ ถ้าจะขาดอายุความให้ส่งฟ้องไปก่อนนั้น เท่ากับเป็นการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ปัดความรับผิดชอบ ทั้งที่กฎหมายให้อายุความมาพอสมควรที่พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนสั่งคดีได้ การให้ส่งฟ้องก่อน แม้พยานหลักฐานแค่เพียงพอส่งฟ้อง กลายเปนภาระต่อขั้นตอนอัยการและศาลแทน ทั้งที่หลักการใหญ่ คือ ในความผิดทางอาญา ต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเสมือนผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าผิด การจะส่งฟ้องต้องมีหลักฐานชี้ชัดว่าทำผิด

ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ นั้น จัดวางโครงสร้างองค์กรโดยไม่แยกแท่งพนักงานสอบสวนออกเด็ดขาด แต่ให้แยกเป็นสายงานโดยอยู่ภายใต้สังกัดเดียว เขียนให้ท้องถิ่นมาร่วมอุดหนุนสถานีตำรวจ โดยมุ่งในเรื่องงบประมาณมากกว่ากลไกการอำนวยความยุติธรรม โดยในระดับพื้นที่จังหวัด ตำรวจมีกองบังคับการจังหวัด เป็นราชการส่วนกลางทำงานในพื้นที่อย่างเป็นอิสระ ควรปรับให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการ โดยเอาสุขทุกข์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อช่วยดูแลเรื่องชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัย

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตพนักงานสอบสวน ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน ชี้ว่า การโอนงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจคืนหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายมีความพยายามมาหลายปี ผ่านกระบวนการต่าง ๆ หลายครั้งรวมทั้งมติสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้โอน 11 หน่วยงานพ้นตำรวจ แต่มีความพยายามรั้งไว้มาตลอด ในบทเฉพาะกาลร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติใหม่ ให้โอนตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ใน 1-3 ปี จราจร 5 ปี ทั้งที่ไม่ต้องนานขนาดนั้น และเขียนมาตราเดียว เรื่องอำนาจสอบสวนเฉพาะทาง ให้หน่วยงานใดมีอำนาจตามกฎหมายใดให้มีอำนาจสอบสวนด้วย จะลดภาระงานสอบสวนของตำรวจได้มหาศาล และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้วย ส่วนคดีใหญ่ที่ให้อัยการเข้าร่วมทำสำนวนคดีด้วยแต่ต้นเป็นคดีโทษเกิน10 ปีขึ้นไป มีแต่คดีฆ่าคนตาย ควรลดลงมาให้ตั้งแต่โทษ 5 ปีขึ้นไป เช่น ความผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ให้มีอัยการร่วมด้วยได้

ส่วน ม.22 ที่หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งเรื่องกับมาให้ผู้การฯสอบสวน ของตำรวจมีอำนาจให้ความเห็นแย้งนั้น กลายเป็นปัญหาความเห็นแย้งตำรวจ - อัยการ กลับไปกลับมา จากเดิมหากอัยการสั่งไม่ห้อง ต้องส่งให้ผู้ว่าฯ ให้ความเห็นเพื่อถ่วงดุล หลัง คสช. สั่งโอนให้ ผบช.ตำรวจภูธรภาค และจะกลายมาเป็นของผู้การฯสอบสวน จึงเป็นร่างกฎหมายปฎิรูปตำรวจฉบับชี้หมูราขี้หมาแห้ง


S__29917188

นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดกาญจนบุรี ให้ความเห็นว่า ป.วิฯอาญา ของไทยวิปลาส ผิดหลักสากล ที่กระบวนการยุติธรรมต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องวางกลไกอย่าให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีอำนาจดำเนินการเองหน่วยเดียว การจับกุมผู้ต้องหาต้องมีอัยการมารับรู้ใน 24 ชั่วโมง กล้องวงจรปิดต้องมีสำเนาส่งทั้งตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง มีหน่วยพิสูจน์หลักฐานที่ไม่อยู่ในสังกัดเดียวกันเข้าร่วมดู เพื่อสร้างหลักประกัน ทำไมตำรวจต้องกลัวที่จะให้อัยการเห็นหลักฐานตั้งแต่เริ่มต้นคดี หากสร้างความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมได้ จะช่วยแก้ปัญหาสังคมมหาศาล

เช่นเดียวกับ นายปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร ประธานคณะทำงานกระบวนการยุติธรรมในกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ สนับสนุนว่า การสอบปากคำต้องมีการบันทึกภาพเสียงตั้งแต่เริ่มต้นทั้งหมด ตำรวจต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้เข้าใจ หลักปฎิบัติบางเรื่องมีอยู่ แต่ไม่ระบุว่า หากละเลยเพิกเฉย พนักงานสอบสวนจะมีโทษอะไร รวมทั้งในการพิจารณาคดีอาญาบางประเภท น่าจะใช้ระบบไต่สวนเพื่อให้ศาลลงมาร่วมแสวงหาข้อเท็จจริง แทนระบบกล่าวหาที่ศาลต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำขึ้นต่อสู้และจะพิพากษาเกินข้อกล่าวหามิได้

นายบุญแทน ตัยสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ที่ร่วมผลักดันการปฎิรูปตำรวจ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวตอนท้ายว่า เวลาในการให้แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ เพื่อการปฎิรูปตำรวจค่อนข้างเร่งรัด แต่จะเร่งประมวลข้อคิดเห็นและประเด็นเสนอแนะจากการเสวนาภายใน 2-3 วันนี้ ร่วมกับข้อเสนอปฎิรูป 8 ประเด็นของเครือขายประชาชนปฎิรูปตำรวจ (คป.ตร.) เพื่อยื่นเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งขาติ พ.ศ.... ต่อไป


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | มุมมองต่อข้อเสนอ ให้อัยการร่วมสอบสวนกับตำรวจ
ปฏิรูปตำรวจสูตร 'มีชัย' รื้อใหญ่แต่งตั้งโยกย้าย - สอบสวน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว