ชิงสินเชื่อ 2 แสนล้าน! ปล่อยกู้ไฮสปีดเทรน

12 ส.ค. 2561 | 12:14 น.
120861-1902

แบงก์วิ่งฝุ่นตลบหนุนสินเชื่อไฮสปีดเทรน "กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์-ทีเอ็มบี" ยันมีลูกค้าเข้ามาหารือรอศึกษาโมเดลการเงิน ลั่นมูลค่าโครงการสูง ทุกแบงก์แห่ปล่อยกู้ มั่นใจดันพื้นฐานเศรษฐกิจแกร่ง

หลังทุนใหญ่ไทยและต่างชาติ จำนวน 31 ราย ได้เข้าซื้อซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินอู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง มูลค่าโครงการกว่า 2 แสนล้านบาท ไปแล้ว ขณะนี้ บริษัทเหล่านี้กำลังเร่งศึกษารายละเอียดของร่างทีโออาร์เพื่อเตรียมยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 12 พ.ย. นี้ พร้อมยื่นหลักประกัน (แบงก์การันตี) มูลค่า 2,000 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมอีก 2 ล้านบาท ด้วย


TP06-3345-1

ความเคลื่อนไหวล่าสุด กลุ่มทุนดังกล่าวเริ่มมีการหารือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านเงินทุนและแบงก์การันตี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการปล่อยกู้ร่วมกันของหลายสถาบันการเงินระหว่างธนาคารไทยและต่างประเทศ ในลักษณะ "ซินดิเคตโลน" เพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากโครงการใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ผลตอบแทนการลงทุนต่ำมาก หากคิดรายได้จากค่าตั๋วโดยสาร ไม่รวมการพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ โครงการมีโอกาสคืนทุนยาก

ต่อเรื่องนี้ นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ตอนนี้มีลูกค้าหลายรายที่สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีมูลค่าค่อนข้างสูง เข้ามาพูดคุยกับธนาคารถึงรายละเอียดบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นรายใด คาดว่าภายในเร็ว ๆ นี้ น่าจะมีความชัดเจน

 

[caption id="attachment_305315" align="aligncenter" width="298"] วศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ วศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์[/caption]

สอดคล้องกับ นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มีลูกค้าเข้ามาติดต่อบ้าง แต่เข้าใจว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดทำแผนทางการเงิน เชื่อว่า หลังจับคู่ธุรกิจ หรือ คอนซอร์เตียม (Consortium) เพื่อร่วมประมูล ซึ่งหากมีความชัดเจนในเรื่องของโมเดลทางการเงิน คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อ หรือ แบงก์การันตี กับธนาคารอย่างแน่นอน

"ตอนนี้ เรารู้ว่า คอนซอร์เตียมมีใครบ้างที่จะเข้าร่วมประมูลเฟสต่อไป ลูกค้าต้องวางแผนการใช้เงินให้ชัดเจนก่อน ว่า จะเป็นแบบไหน ในโมเดลลักษณะไหน ซึ่งมีการพูดคุยและศึกษาอยู่ ซึ่งหลังจากโมเดลการเงินชัดเจน น่าจะเข้ามาพูดคุยกับธนาคารช่วงปลายปี เพราะจะเป็นช่วงประมูลโครงการ และลูกค้าต้องนำแบงก์การันตีไปวางการค้ำประกัน"


appMAP-3193-1

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า เชื่อว่า ทุกธนาคารให้ความสนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ เพราะเป็นโครงการ 1 ในตัวขับเคลื่อนหลักทางด้านการลงทุนของไทย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต เชื่อว่า ลูกค้าและคอนซอร์เตียมที่สนใจลงทุนน่าจะเข้ามาพูดคุยกับธนาคารอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน มีลูกค้าได้เข้ามาพูดคุยกับธนาคารบ้างแล้ว และเชื่อว่า ทุกธนาคารก็สนใจที่จะเข้าร่วม เพราะมีมูลค่าสูง

"ในส่วนของทีเอ็มบี โครงการลงทุนที่มีการก่อสร้างถือเป็นกลุ่มที่ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตอยู่แล้วในปีนี้ ประกอบกับธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มก่อสร้างจำนวนมาก ซึ่งก็มีลูกค้าสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ดี เราไม่ได้เน้นปล่อยสินเชื่อ หรือ ให้วงเงินเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงซับคอนแทร็กต์ที่เป็นซัพพลายเชนกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ด้วย ดังนั้น หากลูกค้าต้องการขอวงเงิน หรือ แบงก์การันตี ไปวางค้ำประกันเพื่อประมูลโครงการ ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนแน่นอน"

 

[caption id="attachment_305317" align="aligncenter" width="363"] สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

ทางด้านกลุ่มบีทีเอส ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่สนใจประมูลโครงการดังกล่าว นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ปกติกลุ่มบีทีเอสได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารกรุงเทพมาต่อเนื่องยาวนาน สำหรับการประมูลครั้งนี้ก็จะยังคงใช้บริการธนาคารรายนี้เป็นหลัก"

ด้าน นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ ส่วนแหล่งข่าวในวงการรับเหมาไทยรายหนึ่ง กล่าวว่า คาดว่าแต่ละกลุ่มคงไม่ได้ใช้แบงก์เพียงแบงก์ใดแบงก์หนึ่งเท่านั้น เนื่องจากแบงก์การันตีมีมูลค่า 2,000 ล้านบาท จึงอาจกระจายกันไปในแต่ละราย อีกทั้งยังต้องพิจารณารายละเอียดว่า แบงก์ไหนจะให้ข้อเสนอที่ดีกว่า อีกทั้งยังพบว่า มีสถาบันการเงินแสดงความสนใจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มของจีนคงจะใช้สถาบันการเงินของจีนเข้ามาการันตี ทั้งไชน่าแบงก์ หรือ CIMB ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

ขณะที่ แหล่งข่าวจากบริษัทข้ามชาติ ระบุว่า ขณะนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ITOCHU Corporation ซึ่งได้ซื้อซองประมูลในครั้งนี้ด้วย ได้มีการทาบทามสถาบันการเงินจากต่างประเทศและธนาคารพาณิชย์ของไทย เพื่อร่วมสนับสนุนสินเชื่อและแบงก์การันตีด้วย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,391 วันที่ 12-15 ส.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เร่งไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่ ระบบโลจิสติกส์ทางรางขับเคลื่อนอีอีซี
ไฮสปีดเทรน 3 สนามบินฉลุย เร่งเวนคืนเปิดเชื่อมสถานี


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว