รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | มุมมองต่อข้อเสนอ ให้อัยการร่วมสอบสวนกับตำรวจ

11 ส.ค. 2561 | 04:45 น.
130861-0748

ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) ได้จัดทำแถลงการณ์ฉบับที่ 12/2561 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ และประธานคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เร่งแก้ปัญหาการปฏิบัติงานของตำรวจ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูประบบงานสอบสวน โดยเสนอให้พนักงานอัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปนับตั้งแต่เกิดเหตุ ผมในฐานะนักศึกษากฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระดับปริญญาเอกในประเทศอังกฤษ จึงเกิดความสนใจต่อข้อเรียกร้องนี้ของภาคประชาชน ดังนั้น ผมจึงอยากหยิบยกประเด็นที่ควรใช้เป็นข้อคิดในการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อให้อัยการมีอำนาจในการตรวจสอบการสอบสวนของตำรวจในชั้นสอบสวน 2.เดิมโครงสร้างหลักในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในเรื่องนี้นั้นมีอยู่อย่างไร และเหมาะสมหรือไม่ 3. หน้าที่ของตำรวจและอัยการที่เกี่ยวกับพยานหลักฐานในกระบวนการพิสูจน์ความผิดควรเป็นอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาให้กับประชาชน และสุดท้าย 4. นานาอารยประเทศเขาวางอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการตามแบบที่เครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปตำรวจได้เสนอขึ้นมาหรือไม่

ในประเด็นแรก ปัญหาที่ได้ยินได้ฟังจากภาคประชาชนเป็นจำนวนมากปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความ ซึ่งประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายและไม่ทราบว่า การที่พนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับจดแจ้งความแต่ละเว้นไม่รับจดแจ้งความนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 162 (3) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีอยู่ แต่เมื่อประชาชนไม่ทราบ และเจ้าพนักงานตำรวจ (บางคน) ก็ไม่ยอมรับแจ้งความ การเริ่มต้นดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ คป.ตร. ตั้งขึ้นเกี่ยวกับการที่พนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้นไม่มีความจริงจังในการรวบรวมพยานหลักฐาน กลับผลักภาระหน้าที่ให้กับบิดาผู้เสียหายเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งที่การรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นเป็นหน้าที่ของตน จนเมื่อศาลตัดสินยกฟ้องเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวกระโดดตึกของศาลฆ่าตัวตาย ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดในครั้งนี้ จึงเสนอว่าควรกำหนดในกฎหมายให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีสำคัญแบบนี้


TP7-3391-A

ประเด็นนี้เกี่ยวพันกับประเด็นที่ 2 เพราะเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังคงใช้ระบบแบ่งแยกอำนาจกัน (เกือบ) เด็ดขาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นั่นคือ อำนาจการสืบสวน จับกุม และสอบสวน เป็นของพนักงานตำรวจ ส่วนพนักงานอัยการมีอำนาจในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี และสุดท้ายอำนาจในการพิจารณาตัดสินคดีเป็นของศาล ยกเว้นคดีบางประเภทที่กฎหมายอนุญาตให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนได้เช่น การสอบสวนเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี คดีวิสามัญฆาตกรรม และคดีความผิดนอกราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้หากพนักงานตำรวจไม่รับแจ้งความหรือเกิดการดำเนินการใดที่ไม่เหมาะสมในระหว่างการสอบสวนตามที่ปรากฏนั้นประชาชนผู้เสียหายก็ไม่สามารถมาพบหรือนำเอาพยานหลักฐานมาส่งให้กับ พนักงานอัยการเพื่อให้ดำเนินการฟ้องคดีให้กับผู้เสียหายได้ เนื่องจากกฎหมายมิได้เปิดช่องไว้แต่อย่างใดซึ่งในส่วนนี้คงถึงเวลาที่เราต้องกลับมาทบทวนดูบทบาทหน้าที่แล้วว่า แท้จริงตำรวจและอัยการควรมีบทบาทสำคัญอย่างไรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน

ที่ผ่านมาหน้าที่หลักของตำรวจคือการรวบรวมพยานหลักฐาน และหน้าที่ของพนักงานอัยการคือนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาล หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ถึงการหาภาพหน้าตาของผู้กระทำผิดว่าเป็นอย่างไร ตำรวจมีหน้าที่ในการหาจิ๊กซอว์ของภาพ ในขณะที่พนักงานอัยการมีหน้าที่ในการต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้ศาลเห็นหน้าตาที่แท้จริงของผู้กระทำผิด แต่จะเห็นได้ว่าในกฎหมายที่ยังบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีการแบ่งระยะเวลาในการทำหน้าที่ของตำรวจและอัยการไว้อย่างชัดเจน หลายคดีที่มีการนำช่องโหว่ในประเด็นนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ ซึ่งในเรื่องนี้ทราบว่าปัจจุบัน คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้มีความพยายามแก้ไขเรื่องดังกล่าวด้วยการกำหนดกรอบเวลาของการทำงานในแต่ละชั้นที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นการแก้ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งในทางปฏิบัติด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาเรื่องกฎหมายที่ต่างประเทศใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีหลายประเทศที่กำหนดให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในคดีสำคัญ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนีออสเตรเลีย และ อังกฤษ แต่หากมีข้อกังวลเรื่องการตรวจสอบว่าถ้าให้อัยการกับตำรวจมาร่วมสอบสวนด้วยกันแล้วใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการสอบสวนดังกล่าว ประเด็นนี้ต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่า จริง ๆ แล้วการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมนั้น คือ การใช้กระบวนการสอบสวนตรวจสอบกระบวนการจับกุมว่ากระทำโดยชอบหรือไม่ นี่คือ ระบบที่ประเทศต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นใช้อยู่ในปัจจุบัน

ส่วนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์ความผิดและลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น เป็นสิ่งที่สามารถร่วมกันทำได้ระหว่างพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วนั้นจำนวนของพนักงานอัยการและพนักงานตำรวจในทุกประเทศที่ได้กล่าวมารวมถึงประเทศไทยนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้กฎหมายในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น กำหนดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนเฉพาะในความผิดสำคัญเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนว่าเครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปตำรวจคงพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ถือเป็นคดีสำคัญ

ดังนั้น ข้อเสนอนี้หากจะพิจารณาจากปัญหาทางปฏิบัติ ปัญหาเชิงโครงสร้างการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบกับการเปรียบเทียบกับกฎหมายที่ต่างประเทศใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ก็ถือได้ว่ามีเหตุผลในทางวิชาการเพียงพอที่จะใช้ในการสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว จริง ๆ แล้วปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง โชคดีที่ประเด็นซึ่งได้มีการเสนอขึ้นมานี้ ได้มีการนำมากำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา ในมาตรา 15 (1) โดยกำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการทราบในกรณีที่มีการสอบสวนในคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นตํ่าตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบ สวน โดยร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

โดยส่วนตัวผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งครับว่า หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาและเห็นชอบต่อประเภทคดีที่เหมาะสมที่จะให้อัยการมีอำนาจในการตรวจสอบการสอบสวนในชั้นสอบสวนจนกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกันในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน

ส่วนรายละเอียดของความร่วมมือในเรื่องนี้ควรจะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกันต่อไประหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

| เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

|โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3391 ระหว่างวันที่ 12 - 15 สิงหาคม 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว