สิ้นปีพ้นจน 8 แสนราย! 'ออมสิน' หนุนฐานรากพัฒนาอาชีพ - บสย. ต่อยอด 'บัตรคนจน'

13 ส.ค. 2561 | 08:38 น.
130861-1524

ธ.ก.ส. เตรียมประเมินผลฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย 2.7 ล้านราย เดือน ก.ย. มั่นใจสิ้นปีพ้นความยากจน 8 แสนราย ด้าน ‘ออมสิน’ เผยเร่งพัฒนาอาชีพ เล็งขยายฐานลูกค้าสวัสดิการแห่งรัฐ หนุนปล่อยสินเชื่อรายย่อย ฐานรากโตตามเป้าทั้งปี 1.5 หมื่นล้านบาท ... บสย. ชี้โครงการไมโคร 3 ต่อยอดฐานราก 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' หนุนพัฒนาอาชีพ เผย 2 แบงก์รัฐ จองวงเงินล่วงหน้าเกือบหมื่นล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน
ว่า มีผู้ถือบัตรคนจนมาลงทะเบียนฝึกอาชีพ 2.7 ล้านราย จากจำนวนที่ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. 4.5 ล้านคน ซึ่งหลังจากอบรมความรู้ด้านการเงินหมดแล้ว ได้แยกไปฝึกอาชีพตามความต้องการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งกรมประมง ปศุสัตว์ ซึ่งภายในเดือน ก.ย. นี้ จะได้รับ 2 แสนราย ส่วนที่เหลือจะใช้งบประมาณปีหน้า


MP24-3391-A

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้มีรายได้น้อยอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนการผลิต โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ทุกเดือน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ลดต้นทุนการผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีเงินออม โดยจะประเมินผลในเดือน ก.ย. ว่า ผู้มีรายได้น้อยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ โดยเป้าหมายจะทำให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน มีรายได้มากขึ้น หรือ หลุดพ้นความยากจน ให้ได้ 8 แสนราย ภายในเดือน ธ.ค. นี้

ด้าน น.ส.จิราพร นุกิจรังสรรค์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ ธนาคารออมสิน กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สินเชื่อรายย่อยกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและสินเชื่อข้าราชการช่วง 6 เดือนแรก สินเชื่อเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีลูกค้าพอร์ตข้าราชการชำระคืนหนี้ค่อนข้างเยอะ ประกอบกับ ปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่สูง ส่งผลให้สินเชื่อช่วงครึ่งปีแรกยังขยายตัวไม่มากนัก โดยเพิ่มขึ้นสุทธิหลักพันล้านบาท ซึ่งภาพรวมทั้งในส่วนของปล่อยสินชื่อชำระคืนหนี้ รวมถึงแก้ไขหนี้นอกระบบ ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 40% ของเป้าหมายทั้งปี

ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยฐานรากเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกได้มาประมาณ 40% ของเป้าหมาย ส่วนครึ่งหลังของปีจะเน้นเรื่องการพัฒนาอาชีพและดูแลฐานลูกค้าเดิมที่มีความต้องการสินเชื่อ ซึ่งธนาคารพร้อมจะสนับสนุน โดยวงเงินสินเชื่อรายย่อยปัจจุบันเฉลี่ยที่ 5 หมื่นบาทต่อราย ส่วนการขยายฐานลูกค้าใหม่จะอยู่ภายใต้โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะมีลูกค้าใหม่เข้ามา ดังนั้น คาดว่าทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบัน ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างกลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐ-ข้าราชการอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น พอร์ตสินเชื่อกลุ่มรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อคงค้างกลุ่มข้าราชการ อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ขณะที่ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พยายามรักษาดูแลไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ โดยปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำกว่าอุตสาหกรรมไม่เกิน 10% อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าเริ่มส่งสัญญาณชำระหนี้ไม่ไหว ธนาคารก็มีมาตรการดูแลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกค้าเป็นหลัก

"สินเชื่อครึ่งปีแรกปล่อยค่อนข้างยากหน่อย เพราะมีลูกค้าพอร์ตข้าราชการชำระหนี้กลับมาค่อนข้างสูง ทำให้ยอดปล่อยใหม่เมื่อเทียบกับยอดชำระคืน จึงเติบโตไม่สูง โดยในช่วงครึ่งปีหลัง เราจะมีการพัฒนาอาชีพพร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ได้จากโครงการบัตรสวัสดิการ น่าจะทำให้เราได้ตามเป้า"

ขณะที่ นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนานย่อม (บสย.) กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย ระยะที่ 3 (Micro Entrepreneur) หรือ Micro 3 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท จะเน้นกลุ่มรายย่อยและต่อยอดโครงการสวัสดิการของรัฐ โดยจะเป็นสินเชื่อที่ปล่อยต่อเนื่องจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้ถือบัตรที่ผ่านการฝึกอาชีพเสริมจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย บสย. จะเข้าร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า มีผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 6 ล้านราย คาดว่าจะมีความต้องการวงเงินผ่านธนาคารออมสินในกลุ่มนี้แล้วประมาณ 4,600 ล้านบาท ส่วน ธ.ก.ส. มีผู้ลงทะเบียนประมาณกว่า 4 ล้านราย ซึ่งกำลังพิจารณาวงเงิน แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในราว 5,000 ล้านบาท เฉลี่ยวงเงินกู้ต่อรายอยู่ที่ 5 หมื่นบาท โดยลูกค้าจะต้องผ่านการอบรมพัฒนาอาชีพ และหากดูวงเงินความต้องการรวมจากทั้ง 2 ธนาคาร คาดว่าวงเงินโครงการ Micro 3 น่าจะหมดภายในสิ้นปีนี้

"โครงการไมโคร 3 เป็นโครงการเพื่อจูงใจให้คนฝึกอาชีพ เสริมทักษะ เพื่อประกอบอาชีพได้ พึ่งพาตัวเองได้ โดยจะปล่อยสินเชื่อให้ต่อเนื่องจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้ามาลงทะเบียนพัฒนาอาชีพกับออมสินและ ธ.ก.ส. โดยใช้ บสย. เป็นผู้ค้ำ รวมถึงโครงการร้านธงฟ้าด้วยที่จะปล่อยกู้เฉลี่ยไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย คาดว่าในสิ้นปีนี้ โครงการไมโคร 3 น่าจะหมด"


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,391 วันที่ 12-15 ส.ค. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เคหะอุดรฯทิ้งร้าง20ปี  จี้ปัดฝุ่นผุดบ้านคนจน
จีดีพีโต แต่ทำไมคนจนลง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว