นโยบายการสร้างคน ผ่านการลดต้นทุนของนํ้านมแม่ การลงทุนในเด็กปฐมวัยที่เกินคุ้ม

08 ส.ค. 2561 | 04:38 น.
ทุกครั้งที่เดือนสิงหาคมเวียนมาเยือน บทเพลงหนึ่งที่ทำให้เราได้ยินมาตั้งแต่เล็ก และก็คงอดคิดไม่ได้ถึงบุคคลสำคัญคนหนึ่งของชีวิตก็คือ เพลง "ค่านํ้านม" ที่เนื้อร้องกล่าวถึงคุณค่าอันมหาศาลของนํ้านม ผู้ประพันธ์เพลง (ไพบูลย์ เย็นแข) ได้กล่าวระลึกถึงพระคุณของแม่ที่มาทั้งการสละเวลาในการดูแลลูกตั้งแต่เยาว์วัย และใช้การเปรียบเปรยให้ผู้ฟังได้เห็นมูลค่าต้นทุนที่แม่ได้เสียสละไปผ่านค่า(ของ)นํ้านม

ผู้เขียนเห็นว่า เนื้อหาของเพลงนี้มีทั้งความร่วมสมัยและความลํ้าสมัยเป็นยิ่งนัก เพลงไทยนี้ถูกแต่งขึ้นในปี 2492 และมีใจความของเพลงนี้ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการ "ลงทุน" ในเด็กปฐมวัย และ "ต้นทุน" ต่อพ่อแม่ที่เกิดจากการดูแลเลี้ยงดูลูก กล่าวได้ว่า ผู้ประพันธ์เพลงได้ชี้ให้คนไทยเห็น ทั้งคุณค่าและมูลค่าของการลงทุนในเด็กปฐมวัยก่อนที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกจะได้เริ่มให้ความสนใจในเรื่องประเด็นนี้อีกด้วย

งานวิจัยของกลุ่มนักวิชาการทั้งทางการแพทย์และทางเศรษฐศาสตร์ (ที่มาตามหลังบทเพลง ค่านํ้านม) ได้พบหลักฐานสำคัญว่า ช่วงปฐมบทของชีวิต หรือการพัฒนาการในช่วงปฐมวัย (ก่อนอายุ 5 ปี) เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาให้เด็กมีโอกาสได้เติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งเชิงสติปัญญา สุขภาวะ และวุฒิภาวะ ทางสังคม นักวิชาการมีคำเรียกแบบเก๋ๆ ว่า ช่วงอายุตั้งแต่ 0-5 ปีนี้ คือช่วงเวลาแห่งการ "ลงทุนในทุนมนุษย์" ที่สำคัญที่สุด โดยที่ นํ้านมแม่ จัดว่าเป็น การลงทุนที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นเอง การศึกษาวิจัยหลายชิ้นได้วิเคราะห์ชุดฐานข้อมูลของกลุ่มเด็กๆ ที่พวกเขาได้รับอนุญาตให้ติดตามศึกษาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ ศ.เจมส์ แฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบลปี 2543 ได้สรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้

ประการแรก การทุ่มเทลง ทุนในช่วงพัฒนาการในช่วงปฐมวัยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหมายความว่าการเพิกเฉยละเลยต่อพัฒนาการของเด็กเล็กในช่วงนี้ จะเป็นการสายเกินแก้ และไม่สามารถชดเชยได้ง่ายๆ ในภายหลังได้ แม้จะทุ่มเทเพื่อชดเชยมากแค่ไหนก็ตาม

ประการที่ 2 ทักษะต่างๆ ที่เด็กๆ เก็บสั่งสมขณะกำลังเติบโตนั้นเกิดขึ้นจากหลายช่องทาง หากเราต้องการเลี้ยงดูให้เด็กคนหนึ่งมีระดับไอคิวที่ดี หรือประสบความสำเร็จในการเรียน ปัจจัยที่จำเป็นไม่ได้มาจากแค่การป้อนความรู้ทางตำราเท่านั้น แต่ต้องให้การเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม และจิตภาวะด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า บุคลิกภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่เกิดขึ้นจากการลงทุนในองค์รวมในช่วงปฐมวัยของชีวิตนั่นเอง

ประการที่ 3 พัฒนาการในปฐมวัยของชีวิตเด็กส่งผลระยะยาวต่อการกำหนดความสำเร็จในชีวิตของเขา ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้นในช่วง 5 ขวบปีแรกของชีวิตจะประทับติดตัวคนคนนั้น และมีอิทธิพลต่อบุคคลนั้นๆ จนชั่วชีวิต หากเด็กได้รับการดูแลที่ดี โอกาสที่เขาจะเติบโต ได้ประกอบอาชีพที่ดี มีสุขภาพที่ดีก็ยิ่งสูง ในทางกลับกัน เด็กที่ขาดการเลี้ยงดูและการเอาใจใส่ในช่วงปฐมวัยนี้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม งานศึกษาวิจัยชี้ไว้ว่า เด็กเหล่านั้นก็มีโอกาสมากกว่าเด็กทั่วไปที่จะกลายเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาหลายๆ ด้าน เช่น เรียนไม่จบ มีบุตรก่อนวัยอันควร หรือกระทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย บทสรุปข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนให้ช่วง 5 ปีแรกเป็นสิ่งที่ควรทำและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าของประเทศ

แต่ทั้งนี้การลงทุนใดๆ ย่อมมีการได้อย่างเสียอย่างตามหลักของเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ย่อมมีเจอกับต้นทุนค่าใช้จ่ายหลายด้าน มีหลายครั้งที่การตัดสินใจที่จะดูแลลูกน้อยให้ได้ดีที่สุด รวมถึงความตั้งใจที่จะให้ลูกได้รับนมแม่ครบ 6 เดือนนับเป็นการเสียสละอย่างยิ่ง และกลายเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูงสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง หน้าที่การงานของตนเอง สถานภาพการเงินของครอบครัว และความรู้สึกที่ว่าไม่อาจทำหน้าที่ของพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่หากไม่เอาเวลานั้นมาดูแลเด็กน้อย

ระดับความวิตกกังวลของพ่อแม่มือใหม่นี้ดูจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ดูจะมีบทบาทในการเพิ่มลดต้นทุนของเวลาในการดูแลเด็กน้อยนี้น่าจะมาจากกฎหมายลาคลอดบุตร (Maternity Leave Laws) เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่พ่อแม่ โดยที่แต่ละประเทศนั้นก็มีโครงสร้างกฎหมายที่แตกต่างกันไป โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ  (ILO) ได้กำหนดมาตรฐานขั้นตํ่าให้พ่อแม่ลาเลี้ยงลูกได้ 14 สัปดาห์ ทว่า ปัจจุบันมีเพียง 53% จากทั่วโลกเท่านั้นที่ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นตํ่าดังกล่าว

ในขณะที่คุณแม่นอร์เวย์สามารถลาได้ 315 วัน คุณแม่ของไทยลาได้เพียง 90 วัน แต่ก็ยังนับว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าคุณแม่อเมริกาที่ไม่มีวันลาเลยตามกฎหมาย (ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะเห็นใจแค่ไหน) และอีกหลายประเทศมีการเปิดโอกาสให้คุณพ่อมีสิทธิลายาวเช่นกัน เพื่อมาแบ่งรับภาระช่วยคุณแม่ นอกจากนั้น กฎหมายลาคลอดนี้ยังเปิดให้พวกเขาตัดสินใจลางานต่อหลังคลอดลูก อย่างไรก็ดี พ่อแม่วัยทำงานมือใหม่เหล่านี้ก็ใช่ว่าจะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน และในหลายประเทศโอกาสเสี่ยงกับการเสียตำแหน่งงานไปก็ไม่ใช่น้อย

งานศึกษาวิจัยของ London School of Economics ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษพบว่า คุณแม่ชาวอังกฤษที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่กลับไปทำงานเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด โดย 10% ของคุณแม่กลับไปทำงานภายใน 4 สัปดาห์หลังคลอด ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของคุณแม่ที่ตอบแบบสอบถามกลับไปทำงานภายใน 6 เดือน เพราะแม้ว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษจะอนุญาตยินยอมให้ลูกจ้างหญิงลาคลอดและเลี้ยงบุตรได้นานถึง 52 สัปดาห์ แต่บริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้เพียงแค่ช่วง 33 สัปดาห์แรกเท่านั้น ดังนั้นการลาคลอดพ่วงด้วยการลาเลี้ยงลูกต่อ ถือเป็นความเสี่ยงต่อการขาดรายได้ให้ครอบครัว ถึงแม้จะไม่เสี่ยงต่อการตกงาน แต่กฎหมายก็ไม่ได้ประกันความมั่นคงต่อหน้าที่และรายได้ แม้การลาดังกล่าวจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้พ่อแม่มือใหม่ใช้เป็นช่องทางลงทุนเพื่อพัฒนาการของลูก การสร้างสายสัมพันธ์ และการใช้เวลาร่วมกับลูก ในช่วงพัฒนาการแรกของชีวิตที่สำคัญ

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ช่วง 6 เดือนแรกของทารกเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นการกลับไปทำงานภายใน 3 เดือนตามที่กฎหมายให้ไว้จึงทำให้การให้นมแม่อย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ลำบากมากขึ้น พ่อแม่มือใหม่ในประเทศไทยจำนวนมากก็ตกอยู่ในภาวะความกังวลดังกล่าว ทำให้ในหลายกรณี คุณแม่มือใหม่ที่ทำงานในเมือง หรือทำงานต่างถิ่นจำเป็นต้องขอให้ปู่ย่าตายายเป็นผู้ช่วยดูแลเด็กน้อยเมื่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายต้องกลับไปทำงาน มูลค่าของนํ้านมแม่ยิ่งทวีมากขึ้นสำหรับคุณแม่กลุ่มนี้ นั่นก็คือ การปั๊มนํ้านม (ตามเวลาว่างและสถานที่ “เหมาะสม” ที่หาได้) และค่าการส่งนมแช่แข็งไปตามวิธีการหลากหลาย ทั้งนี้ก็เพราะความรักและความตระหนักของพ่อแม่มือใหม่เหล่านี้ถึงความสำคัญของค่านํ้านมที่มีต่อลูกที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยนั้นเอง

คำถามส่งท้ายจึงมีอยู่ว่า หากบทเพลงร่วมสมัยที่เขียนไว้เมื่อกว่า 50 ปียังมองเห็นคุณค่า และต้นทุนของการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ถึงเวลาหรือยังที่นโยบายรัฐในปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนให้นำสมัยและเพียงพอจริงในการที่จะลดต้นทุนของนํ้านม แม่ ปรับกฎหมายลาคลอดให้เหมาะสมกับลักษณะครอบครัวสมัยใหม่ หรือการตั้งใจลดต้นทุนการสร้างคน ที่มองไปไกลกว่า การลดต้นทุนเพียงแค่ตอนการคลอดบุตร

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ |โดย ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3390 ระหว่างวันที่ 9 - 11 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7