เลขาฯแพทยสภา แนะองค์กรสื่อทำ 'สมุดสุขภาพ'​ ให้นักข่าว

05 ส.ค. 2561 | 09:07 น.
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการจัด "โครงการตรวจสุขภาพให้สื่อมวลชน" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพ (For friends) แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและกรมสุขภาพจิต มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และนักเรียนหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 6

โดยมีนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการ ซึ่งในงานมีการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจแรงบีบมือ กล้ามเนื้อแขน ขาและหลัง เจาะเลือดตรวจ เบาหวาน โรคเก๊าท์ การทำงานของตับ การทำงานของไต และไขมันในเส้นเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ X Ray ปอดให้กับสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนจำนวนมาก

ขณะเดียวกันมีการเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ "ถอดบทเรียนสุขภาพ จากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวง" โดยหนึ่งในนั้น มีพลอากาศตรีนายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวแนะนำสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อว่า ถ้านักข่าวจะไปทำข่าวภัยพิบัติหรือตามสถานที่อย่างถ้ำหลวง ท่านต้องมีความฟิต มียารักษาโรคประจำตัวติด หากมีอาการป่วยต้องมีสมุดสุขภาพประจำตัว ซึ่งแนะนำให้องค์กรวิชาชีพสื่อช่วยทำ เวลาลงพื้นที่ต้องทราบด้วยว่า จุดนั้นมีความเสี่ยงโรคอะไร คำแนะนำ คือ ในปัจจุบันโลกโซเชียลมีความสะดวก สามารถโหลดผลการตรวจสุขภาพ หรือ ผลแล็ปที่หมอได้ตรวจสุขภาพให้ โหลดไว้ในอีเมลตัวเอง เพราะในนั้นจะมีข้อมูลโรคเก่าของเรา เราเคยไปตรวจอะไรไว้บ้าง ขอให้นำข้อมูลเก็บไว้ทีตัว เพื่อการเดินทางไปที่ไหนก็ตาม เพราะเคยเกิดกรณีที่มีคนไปเจ็บป่วยที่ต่างประเทศ แทนที่หมอจะได้เห็นผลแล็ปที่นำติดตัวไป แต่หมอไม่มั่นใจจึงต้องแสกนตรวจใหม่ทั้งหมดเพื่อความชัวร์ จึงทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

1533459787562

ด้าน นายแพทย์โรม บัวทอง จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวแนะนำสื่อมวลชนที่ไปปฏิบัติงานที่ถ้ำหลวงและพื้นที่อื่น ๆ ด้วยว่า เมื่อสื่อมวลชนจะไปหาหมอ ต้องรายงานให้หมอทราบด้วยว่า ท่านไปทำข่าวที่ไหนมา แล้วไปสัมผัสอะไรมาบ้าง เพื่อวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ว่า มีความเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคอะไร เพราะหมอมีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้ว และถ้ามาพบหมอที่กรุงเทพอาจจะบอกว่าท่านติดเชื้อปกติ แต่ต้องบอกว่า ไปที่ไหนมา ถ้าเรารู้เร็ว รักษาเร็ว ก็จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร

"ให้ประเมินสถานการณ์ว่า ลงไปทำข่าวประเภทใด ถ้าเป็นภัยพิบัติที่กระทบต่อสุขภาพแนะนำให้ไปปรึกษาที่สถาบันบำราศนราดูร ฯ ถ้าไปทำงานเรื่องโรคระบาดอุบัติใหม่ แล้วนักข่าวต้องลงไป ก่อนลงไปขอให้ท่านมาบรีฟเรื่องโรคก่อนว่า เราจะไปเจอเชื้ออะไรได้บ้าง ท่านต้องใส่ชุดอะไร ถ้าเจ็บป่วยมียาอะไรในการรักษา ไม่เช่นนั้น เราจะเป็นผู้ป่วยเสียเอง ส่วนเรื่องชุดป้องกันตัวเอง ต้องดูว่าอะไรเข้าได้และควรหลีกเลี่ยงเพราะเราอาจจะไปสัมภาษณ์แล้วติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว