"Ford Ranger Raptor" ราชาทางฝุ่น ไม่ต้องมาองุ่นเปรี้ยว

05 ส.ค. 2561 | 11:18 น.
ปรากฏการณ์ "ฟอร์ด เรนเจอร์" ถือเป็นมิติใหม่ของวงการรถยนต์เมืองไทยครับ ใครจะเชื่อว่า ปิกอัพอเมริกันรุ่นนี้สามารถทำยอดขายได้ดีกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นที่ยึดหัวหาดมาก่อนอย่าง นิสสันและมิตซูบิชิ

แม้อันดับ 1 และ 2 ในกลุ่มปิกอัพยังเป็นอีซูซุและโตโยต้า ที่ผลัดกันชื่นชมบัลลังก์แชมป์ในรอบ 20 ปีหลัง จุดนี้คงไปตีเขายากละครับ ซึ่งฟอร์ดก็เข้าใจและหวังเพียงรักษาอันดับ 3 เอาไว้ให้ได้อย่างเหนียวแน่น

นิยามความสำเร็จของ "เรนเจอร์" คงหนีไม่พ้น รถขายได้ด้วยตัวมันเอง มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ภายใต้เทคโนโลยีที่ฟอร์ดมุ่งมั่นพัฒนา และยังโชคดีที่หาพื้นที่ให้ตัวเองเจอ ด้วยการขายปิกอัพในกลุ่มบน ราคาอยู่ในช่วง 8 แสนบาท และมีตัวท็อปอย่างไวลด์แทร็ก ราคา 1 ล้านบาทต้น ๆ เป็นเฟลกชิฟท์โมเดล

GP-3354_180619_0010

มากไปกว่านั้น ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2018 ฟอร์ดยังสร้างความฮือฮา ด้วยการส่งปิกอัพเฟลกชิฟท์โมเดลรุ่นใหม่ ที่ขยับหนีจากไวลด์แทร็กขึ้นไปอีกขั้น นั่นคือ "เรนเจอร์ แร็พเตอร์" ราคา 1.699 ล้านบาท


โดยรถจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ ส่วนยอดจองไม่เป็นที่เปิดเผย แต่เชื่อว่า ถึงวันนี้มีตุนไว้ 2,000-3,000 คัน เป็นอย่างน้อย


"ปิกอัพราคาล้านเจ็ด" มีตัวเลขการจองระดับนี้ไม่น้อยนะครับ เมื่อเทียบกับยอดขายเรนเจอร์ 4-5 หมื่นคันต่อปี (ปีนี้น่าจะเกิน 6 หมื่นคัน) ขณะเดียวกัน "เรนเจอร์ แร็พเตอร์" ยังถือเป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่ส่งให้ปิกอัพฟอร์ดดูสง่าขึ้นไปอีก (ส่วนรถยนต์นั่งที่เงียบมานาน ไม่ขอพูดถึงตรงนี้แล้วกัน)


คนซื้อปิกอัพระดับนี้ ไม่เน้นเอามาใช้เพื่อการพาณิชย์อยู่แล้วครับ แต่การได้ครอบครองแล้วเกิดความภูมิใจ ใครเห็นก็ชื่นชมว่า ใช้รถมีระดับ รสนิยมสูง ด้วยราคาและสมรรถนะเหนือกว่าปิกอัพทั่วไป


เรื่องสมรรถนะของ "เรนเจอร์ แร็พเตอร์" เมื่อดูจากสเปกต่าง ๆ คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันเยอะ แต่ด้วยตัวผมเพิ่งมีโอกาสไปร่วมทริปทดสอบปิกอัพมหาเทพที่ ดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย ได้ลองขับสัมผัสจริงในเส้นทางออนโรดและออฟโรด พร้อมพูดคุยกับทีมวิศวกรผู้พัฒนา ยิ่งทำให้รู้รายละเอียดของรถคันนี้ได้กระจ่างแจ้งมากขึ้น

Raptor-1583 Raptor-2912 เริ่มจากแชสซีส์ที่ฟอร์ดใช้คำว่า "Redesign" มาจาก "เรนเจอร์ เวอร์ชันปกติ" พร้อมขยายระยะช่วงล้อซ้าย-ขวาเพิ่มอีก 15 เซนติเมตร เขาทำอย่างไร?

สรุปคือ ฟอร์ดใช้รูปแบบของแชสซีส์เรนเจอร์และเอเวอเรสต์ผสมกัน ซึ่งการออกแบบแชสซีส์ (หลัง) ของพีพีวีนั้น รองรับกับโช้กอัพและคอยล์สปริงอยู่แล้ว (ถ้าเรนเจอร์ปกติจะรองรับแบบแหนบแผ่นซ้อน) นอกจากนี้ยังปรับปรุงคานขวาง พร้อมจุดยึดและปีกนก (หน้า) พร้อมเพิ่มความแข็งแกร่งให้แชสซีส์ในหลาย ๆ จุดรวมถึงการเลือกใช้โช้กอัพของ Fox Racing ขนาดลูกสูบ 46.6 มิลลิเมตร พร้อมระบบบายพาสภายใน (Internal Bypass) ส่วนด้านหลังมีกลไกวัตต์ลิงก์ แขนยึดความสมดุลของเพลาตามที่ฟอร์ดถนัด ประกบยางออลเทอร์เรน TA KO2 ของ BF Goodrich ขนาด 285/70 R17

Ranger Raptor - Performance DNA (2) Ranger Raptor - Performance DNA (3) ในส่วนของโช้กอัพ Fox และยาง ถ้าใครมีปิกอัพเรนเจอร์หรือรุ่นอื่นอยู่แล้วไปเปลี่ยนตามได้ครับ เสียรวมไม่กี่แสนบาท แต่ในเรื่องของแชสซีส์ พร้อมช่วงล่างหลังแบบคอยล์สปริง และการเพิ่มความกว้างของตัวรถให้ดูสมดุล ผมว่าทำตามได้ยากครับ

แล้วอย่าลืมว่า รถมันออกมาจากโรงงานผลิต FTM จังหวัดชลบุรี มีการรับประกันตามมาตรฐานรถใหม่นะครับ โดยจ่ายเพิ่มจากรุ่นไวลด์แทร็กเครื่องยนต์เดียวกัน 4.34  แสนบาท

ด้านเครื่องยนต์ดีเซลบล็อกเล็ก 4  สูบขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750 รอบต่อนาที ใช้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดถี่ยิบ 10 สปีด มาช่วยเสริมศักยภาพในการขับขี่ เลือกช่วงปล่อยแรงม้าลงสู่ล้อได้สบาย ๆ การตอบสนองไม่ถึงกับฉุดกระชาก (ในโหมด Normal) แต่ว่องไวเหลือเฟือตามใจผู้ขับ

Raptor-0643 เรียกว่า กดเป็นหาย เหยียบเป็นพุ่ง (คิกดาวน์ลงมาที 2-3 เกียร์) หรือจะเลือกการเปลี่ยนเกียร์เองด้วยแพดเดิลชิฟต์ขนาดใหญ่หลังพวงมาลัย ที่แม่นยำถนัดมือ ขณะที่ความเร็ว 100  กม./ชม.ที่เกียร์ 10 รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,500  รอบเท่านั้น

ส่วนระบบ Terrain Management System (TMS) มีรวม 6 โหมด (ต้องเลือกผ่านปุ่มควบคุมบนพวงมาลัย) ออนโรดทางดำถนนดีก็มี Normal เป็นดีฟอลต์ และ Sport ส่วนทางออฟโรดก็มีโหมด Grass/Snow โหมด Mud/Sand โหมด Rock และโหมดที่เป็นจุดขายคือ Baja (อ่านว่า บาฮา) ที่สามารถใช้ในทั้งการขับการขับเคลื่อน 2 ล้อแบบ 2H และ 4 ล้อแบบ 4H ก็ชัดเจนครับว่า เกิดมาเพื่อขับออฟโรดความเร็วสูง เช่น ทางดินร่วน ๆ หรือ ทางฝุ่นหนา ๆ พร้อมปลดแทร็กชันคอนโทรล (ระบบควบคุมล้อหมุนฟรี) เปิดเส้นทางสวรรค์ให้ผู้ขับได้อย่างเต็มที่

สำหรับเส้นทางที่เป็นฝุ่นหนา ๆ "โหมดบาฮา" ยังช่วยคิดช่วยจัดการเรื่องการทรงตัวของรถแทนผู้ขับได้อยู่หมัด ปล่อยให้เราเล็งเส้นทางดี ๆ แล้วขับมุ่งพุ่งฉิวไปได้เลย

ผมมีโอกาสใช้ความเร็วในทางตรงได้ 100-120 กม./ชม. หลายช่วงต้องกระโดดกระแทก แต่เมื่อรถลงพื้นแล้วยังควบคุมได้อยู่มือไปต่อได้สบาย ๆ (ทั้งรถและตับ ไต ไส้ หัวใจของคนขับยังอยู่ดี) ด้วยระยะยุบของช่วงล่างที่มากกว่าเรนเจอร์เวอร์ชันปกติ 30% พร้อมกราวด์เคลียร์แลนซ์ระดับ 283 มม. (สูงกว่าเรนเจอร์ไวลด์แทร็ก 53 มม.)

Raptor-1069 Raptor-1889 Raptor-3287 Raptor-2936 ส่วนช่วงเข้าโค้งหนัก ๆ ที่ความเร็วตํ่ากว่านี้รถจะปรับ การตอบสนองของเครื่องยนต์ ตำแหน่งเกียร์ เบรกในล้อที่จำเป็น ปล่อยให้รถไถลได้นิด ๆ แต่ถ้าจะบานออกมากไป ก็จะดึงกลับมาเหมือนมีมือวิเศษ อารมณ์ประมาณดิฟต์ปิกอัพบนทางฝุ่น แต่อย่างไรก็ไม่หลุดไม่หมุนประมาณนั้นครับ (ท้ายปัดและหน้ารถพุ่งสวนทางกับทิศทางของพวงมาลัยและล้อ)

หลังออกมาจากทางฝุ่น แล้ววิ่งออนโรด (ความเร็ว 80-130 กม./ชม.) ผมลองจับอัตราบริโภคนํ้ามันในระยะทางประมาณ 100 กม. สุดท้ายเห็นตัวเลขหน้าจอแสดงผลประมาณ 9 ลิตรต่อ100 กม. หรือประมาณ 11 กม./ลิตร

รวบรัดตัดความ...อย่าง ที่เรียนว่า กลุ่มลูกค้าปิกอัพฟอร์ดค่อนข้างชัดเจน คือ ไม่ได้ใช้เป็นรถเพื่อการพาณิชย์ ขนของ ค้าขาย เป็นหลักเมื่อเทียบสัดส่วนกับค่ายอื่น ๆ (ค่ายอื่นโชว์ภาพปิกอัพขนลังผลไม้ตลาดไทย แต่ฟอร์ดพยายามบอกว่า ปิกอัพตนเองลากเรือได้นํ้าหนักกี่ตัน) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจกับกลยุทธ์ชูภาพลักษณ์ด้วยตัวแพง "เรนเจอร์ แร็พเตอร์" หวังสร้างกระแสปิกอัพไฮโซสมรรถนะสูงเพื่อดึงความอยากรู้อยากเห็นให้คนเข้าโชว์รูม แล้วพยายามขายรุ่นปกติ

อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาเกือบล้านเจ็ด แถมไร้โปรโมชัน ยอดขายมีขีดจำกัดของมันครับ ยิ่งเลย 1-2 ปีแรก ไปแล้ว กระแสเห่อเหิมย่อมน้อยลง แต่ผมถือว่านี่เป็นแผนต่อยอดการขายและการตลาดที่ดูฉลาดไม่น้อย ซึ่งใคร (ค่ายรถยนต์อื่น) ไปไม่ถึงอารมณ์นี้ แล้วพยายามติติงเขาจะกลายเป็นว่า "องุ่นเปรี้ยวนะครับ" 

โดย : กรกิต กสิคุณ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561 หน้า 32-33

Raptor-0575 Raptor-6752 Raptor-6758 Raptor-6814