วาง 'ผังเมือง' ไปเพื่ออะไร?

03 ส.ค. 2561 | 06:11 น.
030861-1243

... เมื่อพูดถึงผังเมืองครั้งใด มักมีเรื่องชวนถกเถียงไม่รู้จบ กลุ่มนักอนุรักษ์ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเสียความเป็นส่วนตัวจากตึกสูง สร้างประชิดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว บวกกับสายตาหลายคู่ต่างจ้องมองลงมา ทำให้ขาดอิสรภาพสิ้นดี

เจ้าของที่ดินบางรายสะท้อนว่า ไม่ต้องการปรับสีผังให้เข้มขึ้น แม้ทำเลนั้นจะมีศักยภาพสูง มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ มีรถไฟฟ้าผ่าน เช่นเดียวกับบ้านเก่า อาจารย์ท่านหนึ่งจากรั้วมหาวิทยาลัยชื่อดัง (ไม่ประสงค์ออกนาม) ระบุว่า ย่านบางกะปิแออัดอยู่แล้ว ไม่ต้องการเพิ่มพลังบวกให้ตลาดบางกะปิกลายเป็นคอมเพล็กซ์ติดแอร์ในวันข้างหน้า ขณะ กทม. เองได้ตอกย้ำว่า หากศักยภาพของเมืองโต คงต้องปรับให้สะท้อนความเป็นจริงไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป


Screen Shot 2561-08-03 at 12.45.05

มุมกลับ มีเจ้าของที่ดินจำนวนไม่น้อยคิดต่าง ขอปรับสีผังเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงเข้าไว้ เพื่อขายให้กับนายทุน และนายทุนเองต่างก็ขอปรับสีผังให้ฉูดฉาดตาเช่นกัน เรียกว่าทุกที่ทุกแปลงขอเพิ่มมูลค่าพัฒนาได้สูงเสียดฟ้า ในทุก ๆ ครั้ง ที่ผู้เขียนผ่านสนามการรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมประชาชน โดยเฉพาะผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

ล่าสุด การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ครั้งนี้ก็เช่นเคย เกิดปรากฏการณ์ชาวนาในท้องที่เขตลาดกระบัง หนองจอก คลองสามวา มีนบุรี ฯลฯ คัดค้านบนเวทีเล็กต่อรองกับ กทม. และคณะที่ปรึกษา จัดทำร่างฯ ให้คงเป็นพื้นที่เขียวลาย (อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) และพื้นที่สีเขียว (ชนบทและเกษตรกรรม) พื้นที่ฟลัดเวย์เช่นเดิม ไม่ต้องการยกระดับให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นศูนย์ชุมชนใหม่ อย่าง มีนบุรี  หนองจอก โดยให้เหตุผลว่า นาข้าวที่เหลือกว่า 3,000 ไร่ ใน กทม. อาจสูญพันธุ์

แม้แนวโน้ม กทม. พร้อมปลดล็อก พัฒนาบ้านเดี่ยวได้แสนไร่ในโซนนั้น ต้องจับตาว่า เป็นที่ดินของใครบ้างที่จะส้มหล่น แต่หากเกษตรกรไม่ประสงค์เปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิม ก็ต้องกัดฟันทนกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่รอบข้างที่จะเกิดขึ้น

 

[caption id="attachment_303005" align="aligncenter" width="503"] ©image4you ©image4you[/caption]

ส่วนทำเลย่านดอนเมือง แม้จะเจริญแต่การพัฒนายังเป็นแนวราบ เนื่องจากติดกฎการบิน ต่อให้มีรถไฟฟ้า มีสนามบิน รถไฟความเร็วสูง แต่พัฒนาอะไรไม่ได้มาก ส่งผลต่อราคาที่ดินไม่ขยับตาม แม้เจ้าของที่ดินพยายามเรียกร้องขอปรับเป็นเชิงพาณิชย์ ตึกสูง แต่ก็เป็นไปได้ยาก เว้นแต่ใช้สนามบินเดียว คือ สุวรรณภูมิ

ที่เรียกร้องกันมาก คือ ทำเลในซอย แม้อยู่ใจกลางเมือง ผังเมืองเอื้อพัฒนา แต่หากถนนไม่ถึง 10 เมตร ก็ไม่สามารถสร้างตึกสูงเกิน 23 เมตร หรือเกิน 8 ชั้นได้ เพราะถูกล็อกด้วยกฎหมายควบคุมอาคาร หากปล่อยสร้างตึกสูงซอยแคบ เกรงว่ารถดับเพลิงเข้าถึงยาก อุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารวางใจได้หรือไม่ว่ามีความพร้อม สาธารณูปโภคที่สร้างไว้เดิม รองรับไม่พอ เช่น น้ำประปา ท่อระบายน้ำ

แม้จะมีเอกชนเรียกร้องให้สร้างตึกสูงในซอย แต่ผังเมืองคงยึดตามกฎหมายอาคารทุกอย่าง ถือว่าจบ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดความปลอดภัยต้องมาก่อน

 

[caption id="attachment_303009" align="aligncenter" width="503"] ©Free-Photos ©Free-Photos[/caption]

ทางออกคงต้องสร้างคอนโดฯ โลว์ไรส์ในซอยเพิ่มมูลค่า เน้นร่มรื่นเปี่ยมด้วยความปลอดภัย เฉกเช่นที่บริษัทพัฒนาที่ดินหลายค่ายประสบความสำเร็จมา หรือไม่ก็ทำบ้านหรูไซซ์เล็กขายก็คุ้มค่ามากแล้ว

ที่ยังเป็นปมปัญหาผังเมืองใหม่นนทบุรี หลายพื้นที่ถูกแช่แข็งด้วยกฎข้อห้ามนักพัฒนา-เจ้าของที่ดินไม่เห็นด้วยจากการจำกัดสิทธิ์สร้างที่อยู่อาศัยและกิจการเพื่อพาณิชยกรรม ทำให้มูลค่าที่ดินลด

อีกมุม คือ การคุมซัพพลายไม่ให้ซ้ำรอยคอนโดฯ สายสีม่วง เพราะต่างแห่สร้างหนีผังเมือง สวนทางกับกลุ่มอนุรักษ์ทุเรียนนนท์รวมตัวกันลดบทบาทการใช้ที่ดินจากพื้นที่สีเหลืองอยู่อาศัยเป็นพื้นที่สีเขียวลาย อนุรักษ์สวนทุกเรียนนนท์ ทำเลคลองอ้อมนนท์ กว่า 2,500 ไร่ เพราะต่างมองว่า การสร้างมูลค่าทุเรียนราคาเรือนแสน จะส่งผลดีมากกว่ามูลค่าที่ดินที่เพิ่มและถูกรุกรานโดยบ้านจัดสรร


appMP33-3156-A-1250

นี่คือ อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งปูผังเมืองรวมจังหวัด เนื่องจากงบประมาณจำกัดทำให้หลายพื้นที่ไม่มีผังเมืองควบคุม จึงเกิดปัญหาร้องเรียนไม่เว้นแต่ละวันจากการรุกไล่ของนายทุน ตัวอย่างการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมกลางทุ่งนาที่ จ.สระบุรี สร้างมลพิษ น้ำเสีย จนนาข้าว พืชไร่ของเกษตรกรได้รับความเสียหาย แถมเกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา ซึ่งยังไม่รวมอีกหลายพื้นที่ รวมถึงบ้านจัดสรร ยึดนาข้าว ในทำเลที่สาธารณูปโภครัฐยังเข้าไม่ถึง เพราะราคาที่ดินถูก

เช่นเดียวกับข้อห้ามสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณร่องน้ำผ่านและที่ราบเชิงเขา ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินเหมือนโศกนาฏกรรม เศร้าสลดเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ที่ จ.น่าน

จึงเป็นบทสุรปที่ได้จั่วหัวว่า ทำไมถึงต้องวางผังเมือง และเราต้องวางผังเมืองไปเพื่ออะไร?


……………….
รายงานพิเศษ โดย นายปั้นจั่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตลาดคอนโดฯอุดรฟื้น แนะแก้ก.ม.ผังเมืองรวมเอื้อลงทุน
'ร่มเกล้า' ที่พุ่งวาละ 3 แสน! ปลดล็อกผังเมือง เอื้อคอนโดฯ-ทาวน์เฮาส์


e-book-1-503x62