เวลธ์ ซิมโฟนีเติบโตเร็วบริหารพอร์ต3พันล้าน

09 ส.ค. 2561 | 03:51 น.
สัมภาษณ์

บริษัท เวลธ์ ซิมโฟนี จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา แนะนำการลงทุน การบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้ลูกค้าบรรลุวัตถุประสงค์ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นๆ ทุกประเภทสินทรัพย์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ถึงปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ารวมประมาณ 500 ราย บริหารพอร์ตลงทุนมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท

นางสาววิรัญญา ก่อเกษมสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวลธ์ ซิมโฟนี จำกัด กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงธุรกิจของบริษัทว่า บริษัทไม่เพียงแต่แนะนำการลงทุน หรือแนะนำการบริหารการเงินให้กับลูกค้า แต่บริษัทจะเป็นเหมือน Life Partner ให้กับลูกค้า

[caption id="attachment_301420" align="aligncenter" width="274"] นางสาววิรัญญา ก่อเกษมสุข นางสาววิรัญญา ก่อเกษมสุข[/caption]

นอกเหนือจากการบริหารการเงินการลงทุนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของลูกค้าแล้ว บริษัทยังแนะนำการทำธุรกิจของลูกค้า อย่างเช่น ลูกค้าในวัยเกษียณที่ไม่มีลูกหลานทำธุรกิจต่อ ต้องการยกเลิกการทำธุรกิจ ทางบริษัทจะประสานงานหาผู้ร่วมทุนหรือผู้ซื้อกิจการ เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด

ในบางกรณีที่บริษัทมองเห็นลู่ทางของธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง ก็จะมีการแนะนำให้ลูกค้าเข้าร่วมลงทุน ใน Private Equity ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการลงทุนใน Start Up และ Venture Capital ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นไปได้ของธุรกิจ ความเสี่ยงและผลตอบแทน ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า

“ปัจจุบันลูกค้ารายย่อยๆ ไม่มีโอกาสเข้าถึงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนลูกค้ารายใหญ่ ทางบริษัทก็จะเลือกช่องทางการลงทุนที่ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยได้เข้าถึงโอกาสทางการลงทุนที่หลากหลายได้เหมือนๆกับลูกค้ารายใหญ่ โดยทางเราไม่ได้คิดค่าบริการในการทำแผนหรือแนะนำการลงทุน แต่จะบริหารจัดการให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนตามที่ลูกค้าต้องการ และหากบริหารได้ผลตอบแทนส่วนเกิน ก็จะมีการแบ่งปันกำไรกัน”

นางสาววิรัญญากล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการการลงทุนที่มั่นคงปลอดภัย มีความเสี่ยงตํ่า โดยเฉลี่ยแล้วผลตอบแทนที่ทำได้จะประมาณ 10% ต่อปีหรือมากกว่านี้เล็กน้อย

สำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์อยู่ในต่างประเทศ ทางบริษัทยัง มีบริษัทย่อยในฮ่องกง คือ บริษัท ซิมโฟนี เอเชียแปซิฟิคฯ และในสิงคโปร์ มีบริษัท ซิมโฟนี ควอนท์ฯ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำการลงทุนในฮ่องกงและสิงคโปร์ต่อลูกค้าในประเทศนั้นๆ ได้ เช่นเดียวกับในประเทศไทย โดยมีทีมงานผู้เชี่ยว ชาญวิเคราะห์การลงทุนให้บริการ นอก จากนี้ ในต่างประเทศมีกฎหมายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้บริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มโรบอตบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายของลูกค้าให้บริการอีกด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัท GCOX ผู้จัดทำแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ อาทิ ดารานักแสดง นักร้อง นักกีฬา ที่มีแนวความคิดในการทำธุรกิจ สามารถระดมเงินทุนโดยการออก ICO (Initial Coin Offering) และ GCOX จะเป็นศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญโทเคนของบรรดาผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ โดยจะเปิดศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนแห่งแรกที่สิงคโปร์ในเดือนสิงหาคมนี้ และมีแผนเปิดศูนย์ซื้อขายเพิ่มเติมในประเทศญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี, ดูไบ และออสเตรเลีย

โดยบริษัทจะเป็นตัวแทนแนะนำผู้มีชื่อเสียงในประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมในแพลตฟอร์มดังกล่าว รวมถึงแนะนำร้านค้าในไทยที่เปิดรับเหรียญโทเคนของคนดัง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยกิจการในไทยได้มีช่องทางประชาสัมพันธ์ธุรกิจไปสู่ระดับสากลได้โดยไม่มีต้นทุน

นางสาววิรัญญากล่าวถึงที่มาที่มีคำว่าซิมโฟนีอยู่ในชื่อของบริษัทว่า “การเงินก็เหมือนดนตรี มีความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งสูง กลาง ตํ่า ในวงดนตรีก็ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีหลายชิ้น เราเปรียบเสมือนคอนดักเตอร์เป็นผู้ควบคุมการบรรเลงเพลงของวงดนตรี ให้ออกมาในแบบที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าก็เป็นผู้ที่รับฟังดนตรีได้อย่างสบายใจ”

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,387 วันที่ 29 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62