เอสซีจีหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

23 ก.ค. 2561 | 06:11 น.
จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 2573 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน ทรัพยากรที่ถูกใช้งานแล้วก็จะกลายเป็นขยะจำนวนมาก คนไทย 1 คนสามารถสร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม โดยขยะเหล่านั้น สามารถนำกลับไปใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้มากกว่า 60% ขณะที่ทุกวันนี้มีการนำกลับมาใช้เพียง 31%

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถือเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการเมื่อ
สินค้าหมดอายุ การจัดงาน “SD Symposium 2018” ที่ผ่านมา จึงถือเป็นหนึ่งแนวทางในการสร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยมีองค์กรชั้นนำมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

7 เอสซีจีส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนเอสซีจี ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ ด้วยการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. Reduced Material Use หรือเพิ่ม Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวน การผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก
Green Carton ที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ สามารถลดการใช้วัตถุดิบได้ 25% แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ช่วยลูกค้าประหยัดต้นทุนการขนส่ง และยังลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จาก 46% เหลือ 23% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

2. Upgrade และ Replace การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก
โพลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจี ที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และ ปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง

3. Reuse และ Recycle การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนาสินค้า CIERRA ซึ่งเป็น Functional Material ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์แทนการใช้วัสดุหลายชนิด ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล ทำให้การรีไซเคิลทำได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น และ การนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

“รุ่งโรจน์” บอกว่า เอสซีจี พร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ รวมทั้งร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 (845) วันที่ 24 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62