นายกฯชี้ "บทเรียนถ้ำหลวง" ปรับเป็นเเผนรับสถานการณ์

14 ก.ค. 2561 | 15:59 น.
1531582910705 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ว่า “จากเหตุการณ์ “ผู้ประสบภัย” นักฟุตบอลเยาวชนและผู้ช่วยโค้ช “ทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย” รวม 13 คน ติดอยู่ภายใน วนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเวลากว่า 17 วัน นะครับ โดยภารกิจการค้นหาและกู้ภัยที่เกิดจากการบูรณาการของ “พลังประชารัฐ” ไม่เพียงในประเทศไทย แต่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก

สำหรับในการแก้ปัญหาที่ถ้ำหลวง อย่างที่บอกไปแล้ว ด้วยความร่วมมือของคนไทย และคนต่างประเทศ ทั้งราชการ ประชาชน แล้วก็ภาคเอกชน ทุกหมู่เหล่านะครับ จิตอาสา ที่สำคัญที่สุดก็คือ พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้นะครับ เป็นกำลังใจที่พระราชทานกำลังใจให้กับพวกทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นผลสำเร็จนะครับ ก็ขอให้พระองค์ ทรงพระเจริญ

ก็นับเป็นปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ ของมวลมนุษยชาตินะครับ ที่ไม่มีเส้นแบ่งทางเผ่าพันธุ์ ชนชาติ หรือศาสนา โดย “จิตอาสา” เหล่านั้น ต่างทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายร่วม ก็คือ การรักษา 13 ชีวิตในถ้ำ จนประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตามที่มีรายงานข่าวสู่สายตาชาวโลกไปแล้วในช่วงที่ผ่านมานั้น

วันนี้ ผมอยากชี้ชวนปวงชนชาวไทย ให้ ช่วยกันคิดไปข้างหน้า พร้อมๆ กันขยายประเด็น ที่ผมได้กล่าวไว้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อให้มีความชัดเจน บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคต ได้แก่

การจัดทำ “แผนบทเรียน” อาทิ การบันทึกสิ่งที่ได้ดำเนินการไประหว่างภารกิจนี้ ในรายละเอียดนะครับ ที่อธิบายถึงกระบวนการคิด -การบริหารจัดการ - แผนงาน - แผนเผชิญเหตุ - การถ่ายทอดประสบการณ์ - ข้อมูลทางสถิติต่างๆ ของบุคคล และหน่วยงานตามบทบาทหน้าที่ของตน หรือที่ต้องปฏิบัติร่วมกับผู้อื่น รวมทั้ง องค์ความรู้ใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ในทุกๆ สาขาวิชาชีพ ที่ได้มารวมกันในครั้งนี้ ทั้งธรณีวิทยา - ถ้ำวิทยา - อุทกวิทยา - การดำน้ำ - การดำน้ำในถ้ำ - การเจาะน้ำบาดาล - การบริหารการไหลเวียนของน้ำ - การเบนน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์อำนวยการร่วม ทั้งพื้นที่จำกัด - พื้นที่หวงห้าม - การจัดการจราจร - ลานจอดรถทั่วไป รถฉุกเฉิน – ลานจอด ฮลิคอปเตอร์ เรื่อยไปจนถึงกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ ทั้งเรื่องอาหาร - การพยาบาล - สุขาภิบาล - ที่พักผ่อน พักแรม เป็นต้น

ทั้งหมด ทั้งปวง ต้องถูกบันทึกอย่างเป็นระบบ ตามแนวทาง KM ก็คือ “การจัดการความรู้” สำหรับเป็นบทเรียน และให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชน “เจ้าของพื้นที่” รวมทั้ง สามารถนำมาฝึกฝนทักษะ เพิ่มพูนความรู้ ความ สามารถ แก่เจ้าหน้าที่ของเรา ประชาชนของเราด้วยนะครับ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของเราสู่สากล

ในส่วนของการทำงานนี้ อยากจะให้ทุกคนได้วางแผนร่วมกัน ในเรื่องของการป้องกันนะครับ แล้วก็แก้ไข แล้วก็ฟื้นฟูให้ครบระบบ นะครับ เพราะฉะนั้นป้องกันไม่ให้เกิด ย่อมดีกว่าที่จะต้องแก้ไขในโอกาสต่อไปนะครับ เว้นแต่ว่าเป็นสถานการณ์ที่สุดวิสัย

นอกจากนี้ ผมเห็นว่าการจัดทำแผนบทเรียนของเรา ต้องตอบอีก 3 โจทย์ ได้แก่ (1) คือการแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต

(2) การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ในอนาคต โดยโมเดล “ถ้ำหลวง” นี้ จะต้องถูกนำไปขยายผล กับทุกแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ถ้ำ น้ำตก แม่น้ำ ทะเล จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ได้รับบริการที่ดี ประทับใจ และปลอดภัยนะครับ โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจตรา กำกับดูแลให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎกติกา เพื่อสวัสดิภาพของตน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีคู่มือ – มีคำ แนะนำ สำหรับนักท่องเที่ยว หลายภาษา มีระบบเตือนภัย กล้องวงจรปิด และแผนเผชิญเหตุซึ่งกำหนดช่องทางการสื่อสารเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและ กำหนดผู้ปฏิบัติที่ชัดเจน การให้ความรู้เบื้องต้นแก่ประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งก็อาจจะเป็น "ไกด์ประจำถิ่น" ที่สามารถให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่ รวมทั้ง ให้คำแนะนำการปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การตรวจสอบความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้าง ทางเดิน สะพาน รั้วกั้น ป้ายเตือน เป็นต้น

(3) ความพร้อมของบุคลากร และหน่วยงาน โดยเฉพาะอุปกรณ์กู้ภัยประจำหน่วย ที่ต้องจะมีแผนการจัดหาใหม่ จัดหาทดแทน ให้ทันสมัย และ มีแผนซ่อมบำรุงตามระยะเวลา ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีการทำบัญชีเครื่องไม้เครื่องมือของหน่วยงานข้างเคียง หรือของเอกชน ที่สามารถจะประสานงาน หยิบยืมมาใช้ ร่วมกัน ในการทำประโยชน์ต่อทางราชการ ในการบรรเทาสาธารณภัย ได้ทันท่วงที

อีกทั้งยังต้องมีการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับโลก ซึ่งเราสามารถจะขอความร่วมมือได้ ในอนาคต ก็ไปดูนะครับว่าเหตุการณ์เหล่านี่เกิดอะไรขึ้นมาบ้างในโลกใบนี้ เราก็ต้องศึกษา เปิดดู ดูตาม เว็บไซท์ เฟสบุ๊คก็ได้นะครับ แล้วเราก็ขึ้นบัญชีเอาไว้ ถึงเวลาเราก็สามารถติดต่อได้ ขอความช่วยเหลือเขาได้ ผมคิดว่าเขาเต็มใจนะครับ ทุกประเทศ เช่นที่ผ่านมานี่นะครับ เขาก็สมัครใจ ยินดีกันมาทั้งสิ้น ที่สำคัญ เราต้องมีการซักซ้อมแผนการปฏิบัติต่างๆ ภายในหน่วยงาน และระหว่างหน่วยงาน นะครับ ในลักษณะ “ประชารัฐ” ในห้วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้แผนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีประสิทธิภาพ”

e-book-1-503x62