ดีเอสไอ แจงคดีปล่อยกู้กรุงไทย ‘อุตตม-ชัยณรงค์’ ไม่เกี่ยวฟอกเงิน

11 ก.ค. 2561 | 09:23 น.
DSI ชี้แจง กรณีการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการปล่อยกู้กลุ่มกฤษฎามหานคร ทำตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2561 คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกรณีการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการปล่อยกู้กลุ่มกฤษฎามหานครว่า ด้วยวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ปรากฏข่าวประเด็น นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายวิโรจน์ นวลแข, ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ, นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา, นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน ในความผิดฐานฟอกเงิน โดยระบุว่า จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ที่ได้พิพากษาลงวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ว่า คดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้เครือกฤษดามหานคร เพื่อนำไปชำระคืนเจ้าหนี้เดิม คือ ธนาคารกรุงเทพ เป็นการกระทำความผิดและคดีถึงที่สุดแล้ว

และได้พิพากษาแล้วว่า การนำเงินกู้ที่ได้ไปใช้ผิดประเภท ในคดีดังกล่าวเป็นคดีมูลฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาฐานฟอกเงิน และไม่มีกฎหมายใดยกเว้นไว้ว่า บุคคลใดที่เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้น หากถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว จะได้รับการยกเว้นโทษในคดีความผิดฐานฟอกเงินด้วย อีกทั้งธนาคารกรุงเทพได้ออกหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นที่มาของการลดหนี้ และนำเงินไปใช้ผิดประเภท เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินกว่า 3,300 ล้านบาท กระจายไปยังบุคคลต่างๆ มากกว่า 100 ราย แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการ ปปง. เลือกดำเนินคดีร้องทุกข์กับบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดเพียงบางรายเท่านั้น โดยไม่ดำเนินคดีกับธนาคารกรุงเทพ และอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นต้นเหตุของการฟอกเงิน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนได้เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมพยานหลักฐาน ให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วกว่า 10 ครั้ง แต่ยังไม่พบว่าดีเอสไอจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตรวจสอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในประเด็นดังกล่าวอาจทำให้สังคมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ดำเนินคดีกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น

กรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบแล้วพบว่า นายวันชัยฯ ได้ยื่นเรื่องมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ รวมทั้งได้หารือไปยังอัยการสูงสุดว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจดำเนินคดีอาญากับกรรมการธนาคารกรุงไทยฯ อีก 2 คน ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีโดย ป.ป.ช. คือ 1.นายชัยณรงค์ ฯ และ 2.นายอุตตม ฯ ได้หรือไม่ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบข้อหารือ เลขที่ อส.0010.4/6358 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2559 แจ้งว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจดำเนินคดี ส่วนคดีฐานฟอกเงินนั้น บุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องในชั้นการพิจารณาอนุมัติเงิน อันเป็นคนละขั้นตอนกับการโอน รับโอน หรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดอันจะเป็นความผิด จึงไม่มีการดำเนินคดีฐานฟอกเงิน อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ได้มีหนังสือส่งคำกล่าวโทษของนายวันชัย ฯ เรื่องกรรมการทั้งสองคน ไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาแล้ว ส่วนเรื่องของธนาคารกรุงเทพฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมาย ได้ตรวจสอบไม่พบความผิดปกติในการดำเนินการของธนาคารฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมิได้ดำเนินคดี ซึ่งประเด็นของนายวันชัยฯ ทั้งหมด กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้นายวันชัยฯ ทราบแล้ว ตามหนังสือ เลขที่ ยธ 0812/1368 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 คำร้องที่ยื่นมานี้เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน

ล่าสุดวันนี้ ( 11 ก.ค.) นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่าในเมื่อมติรับเป็นคดีพิเศษไว้แล้วเมื่อครั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งมายังดีเอสไอให้ดำเนินคดีฟอกเงินกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และตนได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษต่อดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายอุตตม กับพวกรวม 5 คน และธนาคารกรุงเทพ

นายวันชัย กล่าวต่อว่า หน้าที่และความรับผิดชอบของอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ต้องสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140 เท่านั้น การที่ดีเอสไอสรุปว่าอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งหมายรวมถึงนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการโอนเงินไปยังกลุ่มกฤษดามหานครนั้น ได้พิจารณาการกระทำที่เป็นการสนับสนุนการฟอกเงินหรือไม่

นายวันชัย กล่าวอีกว่า เพราะศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการอนุมัติสินเชื่อนั้นผิดกฎหมาย เพียงแต่ยังไม่ได้นำตัวนายอุตตมและนายชัยณรงค์ฟ้องศาลเท่านั้น และในส่วนของธนาคารกรุงเทพ และผู้บริหารไม่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินคดีนั้น ดีเอสไอไม่สามารถทำได้ และเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการทำการตามอำเภอใจประหนึ่งว่าดีเอสไอเป็นศาลฎีกาไม่สามารถทำได้