'บีทีเอส' วันนี้ ... พร้อมทะยานไปข้างหน้า

11 ก.ค. 2561 | 07:03 น.
110761-1338

"ขอความกรุณาท่าน ๆ ให้เข้าใจเราบ้าง ตลอดเวลา 19 ปี บีทีเอสให้ความสำคัญกับการบริการไหม ให้ความสำคัญกับผู้โดยสารไหม การลงทุนในธุรกิจนี้ 20 กว่าปีที่แล้ว อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามถึงวันนี้ ก็ภูมิใจที่มันเป็นระบบที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ น้อยให้แก่ชาวกรุงเทพฯ ได้"

"การลงทุนรถไฟฟ้านี้ ... เป็นการลงทุนที่ไม่ใช่ว่าจะคุ้มทุนเลยในขณะนั้น โดยเฉพาะบีทีเอส ซึ่งเราเป็นคนลงทุน 100% กทม. ไม่ได้ให้สักบาทนึงเลย แต่ด้วยการที่ผมรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าผมรู้เท่าถึงการ ผมคงไม่ลงทุน ... แต่มาถึงวันนี้แล้ว บริษัทแข็งแรงแล้ว ก็จะเป็นบริษัทที่พยายามจะลงทุนต่อเนื่องในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนะครับ" คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงต่อสื่อเรื่องการเยียวยากรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

 

[caption id="attachment_297003" align="aligncenter" width="409"] คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) คีรี กาญจนพาสน์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

ฟังคำกล่าวแล้ว ก็ให้รู้สึกเห็นใจมาก ๆ เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าในวันนั้นไม่มีผู้กล้าอย่าง 'คีรี' กระโดดเข้ามาลงทุนในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งระบบ หลังจากที่ประเทศไทยต้องกินแห้วมาตลอด ทั้งโครงการลาวาลินและโฮปเวลล์ ซึ่งเราก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันมาเป็นเวลานาน แต่สุดท้ายก็ถูกล้มเลิกโครงการไป จนคนกรุงเทพฯ คงคิดว่า การมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นเรื่องห่างไกลจากความเป็นจริง คือ คงทำได้แค่ฝันเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว

เราก็คงจะคุ้นเคย แต่ระบบรถไฟดั้งเดิมที่มีปัญหามากมาย และไม่คิดว่าการมีระบบรถไฟที่ดีนั้นจะเป็นอย่างไร รวมทั้งภาครัฐก็คงจะไม่ตระหนักว่า การมีระบบรางที่ดีนั้น สามารถแก้ปัญหาการจราจร และการเดินทางของประชาชนได้จริง ๆ จึงได้เกิดเป็นโครงการรถไฟฟ้าหลากสีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าขนาดเล็กในเมืองใหญ่ ๆ หรือโครงการพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นทางคู่ และให้มีการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า หรือ แม้กระทั่งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะมีการลงทุนมากมายหลายสายในประเทศไทย ซึ่งทางบีทีเอสเอง ก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลลงทุนอีกหลายโครงการ จะรู้เท่าถึงการณ์หรือจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในขณะนั้น ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ก็ต้องถือว่า การพัฒนาระบบรางในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากความกล้าหาญของคีรี เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนั่นเอง

12-3378-080761-1418-1

ปัจจุบัน ก็ต้องถือว่า หุ้นบริษัทบีทีเอสถือเป็นหุ้น Blue Chip ตัวหนึ่ง ที่อยู่ในดัชนี SET50 และยังอยู่ในดัชนี MSCI Asia Pacific อีกด้วย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ คีรีและบีทีเอสก็ต้องผ่านความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ที่เรียกได้ว่า ไม่แกร่งจริง คงผ่านมันมาไม่ได้

เริ่มมาจาก บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ได้สัมปทานการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯสายหลัก กับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2535 โดยได้จัดตั้ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ซึ่งต่อมาได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (บีทีเอสซี) เพื่อดำเนินการตามสัญญาสัมปทาน และได้เปิดให้บริการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542 ซึ่งในช่วงเวลากว่า 7 ปี ที่ได้ลงทุนก่อสร้าง ก็ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยเฉพาะในปี 2540 ที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้เงินกู้ยืมที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป็นเหตุให้ทางบริษัทแม่ คือ ธนายง ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนในระหว่างปี 2545-2549 ซึ่งต้องสูญเสียหุ้นบีทีเอสซีให้แก่เจ้าหนี้ อันเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ และได้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในปลายปี 2549 จนเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2553 ทางธนายงก็สามารถซื้อหุ้นบีทีเอสซีกลับคืนมาได้ถึงร้อยละ 94.60 และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มาจนทุกวันนี้

appIMG_0129

ความกล้าหาญของคีรีอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การปลดแอกจากระบบเดินรถเดิม โดยเมื่อบีทีเอสถึงคราวต้องเพิ่มขบวนรถ เพราะผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับผู้วางระบบอาณัติสัญญาณในการเดินรถเดิม คือ Siemens จะต้องอนุญาตให้รถที่ผลิตจากที่ใดก็ได้ สามารถวิ่งได้ในระบบนี้ แต่เมื่อถึงเวลากลับมีการตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย และมีการเจรจากันอยู่นาน จนคีรีตัดสินใจเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณของสายสีลมมาเป็นของ Bombardier และเปลี่ยนทั้งระบบในเวลาต่อมา โดยหลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของ Siemens และพยายามจะขอเจรจาประณีประนอม แต่ก็ได้รับคำตอบว่า "มันสายไปแล้ว" ซึ่งการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณในครั้งนั้น ทำให้ไม่ต้องถูกผูกขาดทางเทคโนโลยี และสามารถลดต้นทุนของการผลิตรถไฟฟ้าลงได้มาก

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การบริหารกิจการรถไฟฟ้าทั่วโลก ค่าโดยสารอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานได้แน่ ๆ โดยเฉพาะกับบริษัทที่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเองด้วยอย่างบีทีเอส ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทางบีทีเอสได้ขยายไลน์ของธุรกิจไปยังธุรกิจสื่อโฆษณา ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มวีจีไอ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผ่านการถือหุ้นในยูซิตี้ และร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอย่างแสนสิริ และธุรกิจบริการ ที่มีหัวหอกอย่างบัตรแรบบิท เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มบีทีเอสมีรายได้จากระบบขนส่งมวลชน ร้อยละ 65 จากสื่อโฆษณา ร้อยละ 28 จากอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 4 และจากการบริการร้อยละ 3 ซึ่งแน่นอนว่า ในแผนธุรกิจในอนาคตของเขาจะมีแผนการลงทุนจำนวนมหาศาลในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าอีกหลายหมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับการลงทุนในรถไฟฟ้ารางเดี่ยวอีก 2 สาย มูลค่ารวมกันเกือบ 90,000 ล้านบาท

หากดูจากธุรกิจหลักของบีทีเอส คือ ระบบขนส่งมวลชน ก็อยากจะเปรียบเทียบการให้บริการของ BTS (เทียบกับ SMRT ของสิงคโปร์ และ MTRC ของฮ่องกง เท่าที่พอจะเปรียบเทียบได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องของความตรงต่อเวลาในการเดินทางของผู้โดยสาร (Passenger Journey On-Time) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 99.85 ในปี 2560/61 ในขณะที่ SMRT ของสิงคโปร์จะอยู่ที่ร้อยละ 91 ของสายเหนือใต้ออกตก (NSEWL) และร้อยละ 99.3 สำหรับสายวงกลม (CCL) และ MTRC ฮ่องกงจะอยู่ที่ร้อยละ 99.9

36188369_2151247138228163_6157437695921487872_n

ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ เช่น ความเชื่อถือต่อการเดินรถไฟฟ้า (Train Reliability) ซึ่งวัดเป็นกิโลเมตรการเดินรถต่อความขัดข้อง 1 ครั้ง ซึ่งวัดจากการที่รถไฟฟ้าต้องหยุดนิ่งเกิน 5 นาที จะนับเป็นความขัดข้อง 1 ครั้ง โดยในปัจจุบันวิ่งได้ 87,960 กิโลเมตรการเดินรถต่อความขัดข้อง (วางมาตรฐานไว้ที่ 35,000 กิโลเมตรการเดินรถ) อาจจะวัดได้ยาก เพราะเครือข่ายของบีทีเอสในปัจจุบันมีเพียง 38.1 กิโลเมตร เท่านั้น ในขณะที่ SMRT มี 137.3 กิโลเมตร (วิ่งได้ประมาณ 180,000-281,800 กิโลเมตรการเดินรถต่อความขัดข้อง ซึ่งจะวางเป้าหมายให้ได้ 300,000 กิโลเมตรการเดินรถ) และ MTRC มีถึง 231 กิโลเมตร (วิ่งได้ประมาณ 5.2–8.1 ล้านกิโลเมตรการเดินรถต่อความขัดข้อง ในขณะที่ วางมาตรฐานไว้เพียง 650,000 กิโลเมตรการเดินรถ) แต่อย่างไรก็ตาม Train Reliability ก็จะส่งผลโดยตรงต่อ Passenger Journey On-Time ซึ่งก็อยู่ในมาตรฐานที่สามารถคุยได้ไม่อายใคร

แต่ก็อยากจะฝากไว้สักนิดว่า การบริหารระบบรางนั้น ความปลอดภัยเมื่อเกิดการบกพร่อง หรือ Fail Safe นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและต้องมีการลงทุนควบคู่ไปกับระบบหลักเสมอ โดยเฉพาะกับรถไฟความเร็วสูง จึงต้องมีระบบอย่างน้อย 2 ระบบ ที่สามารถเอื้อกันได้ เมื่อระบบหลักเกิดความบกพร่อง มิฉะนั้น ยิ่งรถไฟมีความเร็วมากเท่าไร ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเป็นทวีคูณ

……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'บีทีเอส' เปลี่ยนระบบ 'อาณัติสัญญาณ' รับอนาคต
บีทีเอสแจงมาตรการคืนค่าโดยสารกรณีล่าช้า

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว