SMEsรวมกลุ่มยื่นธพว. ขอวงเงิน5หมื่นล.เอื้อคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินยาก

17 ก.ค. 2561 | 02:53 น.
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจับมือเอสเอ็มอีแบงก์ทำโครงการสินเชื่อเพื่อคนตัวเล็ก ขอวงเงิน 50,000 ล้าน จากงบ 78,000 ล้าน หวังแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หลังพบการประชาสัมพันธ์ไปไม่ถึงเอสเอ็มอีระดับตำบล คาดมีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อ 20,000 ราย

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากที่สุดของประเทศ ล่าสุดจากการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank พบว่ามีจำนวนมากถึง 5.25 ล้านราย หากรวมเอสเอ็มอีทั้งหมดทุกกลุ่มที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีก็คือสายป่านสั้น และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการส่งเสริมในแง่มุมต่างๆก็ตามที

107

นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีในการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินก็คือเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการเตรียมเอกสาร หรือหลักฐานทางการเงินเพื่อส่งให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาสินเชื่อ และการประชาสัมพันธ์โครงการจากภาครัฐที่ไม่ทั่วถึง เอสเอ็มอีในระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับรู้ ล่าสุดสมาพันธ์จึงได้ร่วมมือกับ ธพว. เพื่อทำโครงการ “สินเชื่อเพื่อคนตัวเล็ก” เพื่อเชื่อมต่อสมาชิกของสมาพันธ์ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก ธพว. ได้สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งครั้งนี้จะลงลึกไปถึงเอสเอ็มอีในระดับอำเภอ

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ไม่ใช่โครงการใหม่ และไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพราะความร่วมมือดังกล่าวเป็นการนำวงเงินของ ธพว. ที่สนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านโครงการต่างๆประมาณ 50,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 78,000 ล้านบาท มาทำให้เกิดความเข้าใจอย่างง่ายต่อเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาก็สามารถเข้าถึงได้ จากเดิมที่โครงการต่างๆ จะมีชื่อเรียกหลากหลายทำให้ยากต่อความเข้าใจของเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเป็นการให้สินเชื่อในวงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ 1% ต่อปี และจะมีขั้นตอนในการพิจาณาสินเชื่อที่รวดเร็วกว่ากระบวนการตามปกติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประมาณ 20,000 รายให้เข้าถึงสินเชื่อได้ หลังจากนั้นเมื่อผ่านระยะ 3 เดือนเอสเอ็มอีรายใดทำรายการบัญชีได้ถูกต้อง และมีรายละเอียดครบถ้วน หากต้องการเพิ่มวงเงินสินเชื่อก็สามารถยื่นขอเพิ่มเติมได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อรอบแรกไปแล้วปรากฏ ว่ามีเอสเอ็มอีให้ความสนใจขอสินเชื่อแล้วกว่า 4,000 กิจการ

นายณพพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการดังกล่าวจะเปิดให้เอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อรอบ 2 ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 พร้อมกับการให้ความรู้กับเอสเอ็มอีในเรื่องของการเตรียมความพร้อมด้านเอกสาร และด้านต่างๆ ในการยื่นขอสินเชื่อ หลังจากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จะมีการประชุมร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ กลางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งจะลงลึกไปถึงระดับอำเภอ หรือระดับตำบล เพื่อให้รับรู้ว่ามีโครงการดังกล่าวเข้ามาช่วยเหลือ และเปิดโอกาสให้เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการต่างๆ ผ่านสถาบันการเงินในการช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอี ซึ่งก็จะเป็นไปกลไกของสถาบันการเงิน โดยที่กลไกในการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงแค่ระดับอำเภอเมืองเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกถึงคนตัวเล็กอย่างแท้จริง ดังนั้น สมาพันธ์จึงทำหน้าที่รวบรวมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาให้ ซึ่งเรามีผู้ประสานงานระดับอำเภอคอยทำหน้าที่ประสานกับเอสเอ็มอี เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กได้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นอย่างแท้จริง โดยนำสินเชื่อของ ธพว. มาประยุกต์ และใช้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เอสเอ็มอีได้รับรู้อย่างทั่วถึง พร้อมกับการให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมความพร้อมในการยื่นขอสินเชื่อ”

นายณัชวรกานต์ ภรญ์รัฐนันท์ กรรมการผู้จัดการ บจก.ซินเซียร์ เน็ตเวิร์ค ผู้ประกอบการเครื่องมือวัดและเครื่องมือเชิงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เปิดดำเนินกิจการมาได้ 5 ปี และมีโอกาสยื่นขอสินเชื่อจากโครงการของภาครัฐ 2-3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยมองว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่อของภาครัฐก็คือ เรื่องของเอกสาร รวมถึงกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ไม่ระบุให้ชัดเจนว่า  เอสเอ็มอีขาดคุณสมบัติทางด้านใดจึงไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา

ทั้งนี้ มองว่าสถาบันการเงินควรระบุให้ชัดเจนว่าเอสเอ็ม อีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเพราะเหตุใด ไม่ผ่านเพราะกระบวนการบันทึกรายรับรายจ่ายในบัญชี หรือกระบวนการวิเคราะห์ภายใน เพื่อที่เอสเอ็มอีจะได้กลับไปพัฒนากิจการของตนเองให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยที่ผ่านมาจะไม่ได้รับคำแนะนำแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อถูกปฏิเสธหลายครั้งก็จะทำให้เอสเอ็มอีเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี โดยเชื่อว่าเอสเอ็มอีทุกรายพร้อมที่จะเรียนรู้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเท่านั้น

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3382 วันที่ 12-14 กรกฎาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว