บีทีเอส ดอดลงพื้นที่ระยอง เจาะแนวส่วนต่อขยายฟีดเดอร์

15 ก.ค. 2561 | 11:59 น.
บีทีเอสเตรียมส่งชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ระยองเพื่อสำรวจแนวส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เจาะพื้นที่จากอู่ตะเภา-เมืองระยองสร้างระบบฟีดเดอร์และแนวทางการพัฒนาเมือง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเตรียมส่งทีมลงสำรวจพื้นที่ระยองตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้เพื่อสำรวจแนวเส้นทางและพิจารณาความเป็นไปได้ด้านการพัฒนาส่วนต่อขยายจากสนามบินอู่ตะเภาไปถึงตัวเมืองระยองจำนวน 3 สถานีว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนและมีปริมาณความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างไร ระยอง01

นอกจากนั้นยังจะให้มีการสำรวจจุดก่อสร้างสถานีและพิจารณาว่าแต่ละจุดมีความเป็นไปได้อย่างไรบ้างหากจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนรูปแบบทีโอดี เนื่องจากช่วงดังกล่าวนี้ล่าสุดประชาชนชาวระยองได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการอีอีซีเพื่อให้ดำเนินการเชื่อมต่อถึงตัวเมืองระยองจริงๆหลังจากที่ช่วงแรกได้ก่อสร้างสิ้นสุดแค่สนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น

“สำรวจระยะทางประมาณ  30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภาถึงตัวเมืองระยองว่า หากพัฒนาเป็นระบบฟีดเดอร์เพื่อป้อนผู้โดยสารให้เส้นทางหลักจะมีความเป็นไปได้อย่างไรโดยจะร่วมกับบริษัทระยองพัฒนาเมืองฯสนับสนุนใช้รถสมาร์ทบัสให้บริการในช่วงแรกนี้ หากปริมาณความต้องการเต็มพิกัดค่อยพัฒนาเป็นระบบแทรมและระบบหลักที่อาจจะขยายแนวเส้นทางเชื่อมไปยังจังหวัดจันทบุรีและตราดต่อไป”

โดยในเบื้องต้นนั้นจะเน้นทีมเทคนิคลงพื้นที่สำรวจ ประกอบกับส่วนต่อขยายช่วงนี้ยังรอการพิจารณาผล กระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เบื้องต้นนั้นจะสำรวจข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ว่าจะสามารถพัฒนาอย่างไรได้บ้างทั้งระบบรถโดยสารและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประการหนึ่งนั้นในการสำรวจยังจะต้องดูปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย โดยเฉพาะกายภาพตามแนวเส้นทาง ปริมาณผู้โดยสารอีกทั้งยังจะต้องหารือร่วมกับฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายภูษิต ไชยฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองพัฒนาเมืองจำกัด กล่าวว่า เบื้องต้นนั้นมีแนวเส้นทางสายหมายเลข 8 ที่จะเริ่มดำเนินการก่อนในการทดลองก่อนที่จะพัฒนาเป็นเส้นทางหลักในระยะต่อไป หากสามารถนำไปพัฒนาเมืองใหม่ได้ตามแนวคิดของบีทีเอสก็อาจจะน่าสนใจเนื่องจากบีทีเอสมีทุนและพันธมิตรการลงทุนที่มีศักยภาพ  ต้องการลงพื้นที่ว่ากายภาพส่วนไหนมีความเหมาะสมโดยหลักจะดูพื้นที่ในตัวเมืองระยองก่อนที่จะไปดูส่วนด้านนอกเมือง

[caption id="attachment_296766" align="aligncenter" width="503"] ภูษิต ไชยฉ่ำ ภูษิต ไชยฉ่ำ[/caption]

“เส้นทางนี้จะเชื่อมศูนย์เศรษฐกิจทั้งย่านเก่าและย่านที่จะเกิดใหม่จำนวนหลายแห่ง อีกทั้งยังเชื่อมสถานีขนส่งแห่งที่ 1และแห่งที่ 2 ตลอดจนศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ซึ่งแนวเส้นทางส่วนต่อขยายจากอู่ตะเภาถึงตัวเมืองระยองนี้หากไม่มีการพัฒนาทีโอดียังเห็นว่าจะเกิดได้ยาก ต้องให้คุ้มกับการลงทุนให้ได้โดยเร็วจึงต้องเร่งสร้างจุดที่สร้างรายได้ให้นำไปหล่อเลี้ยงระบบการเดินรถในอนาคตได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะจุดที่สามารถต่อยอดการพัฒนาได้ทันทีโดยไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่”

……………….……

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 ก.ค. 2561 e-book-1-503x62-7