Management Tools : คิดกลับทาง แสงสว่างก็ปรากฏ

07 ก.ค. 2561 | 18:58 น.
 

555658

สิ่งที่นักบริหารมักประสบปัญหาคือ การตกอยู่ในกับดักความคิดแบบเดิมๆ ไม่สามารถสร้างสรรค์วิธีการคิดใหม่ๆ เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ประสบหรือเดินหน้าสู่การแสวงหาความได้เปรียบในทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ มีเครื่องมือหนึ่งในการบริหารที่ดูออกจะพิลึกพิลั่น คือการเสนอให้รู้จักการคิดกลับทาง (Reverse assumption) หรือลองคิดในมุมมองตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า การติดอยู่ภายใต้วิธีการคิดแบบเดิมๆ จะไม่สามารถคิดสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เลย แต่หากเราคิดในเชิงตรงกันข้าม ในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่ประสบความสำเร็จขึ้นได้

หากติดกับดักว่า นาฬิกาต้องมีเข็ม ป่านนี้นาฬิกาดิจิตอลต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น

หากเชื่อเพียงแค่ว่า จะซื้อของต้องใช้เงินสด ระบบบัตรเครดิตต่างๆ คงไม่มีในโลกนี้

หากคิดว่า การแก้ปัญหาสายตาต้องใส่แว่นเท่านั้น คงไม่มีคอนแทกต์เลนส์ที่ติดกับดวงตามาใช้

เช่นเดียวกัน หากคิดว่าการนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ต้องผ่านการจิ้มคีย์บอร์ดเท่านั้น คงไม่มีจอทัชสกรีน หรือระบบการสั่งการด้วยเสียงมาใช้ในการทำงาน

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นการให้เห็นว่า การคิดกลับทาง ช่วยให้เกิดมุมมองเพื่อไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่รู้จบ ในหนังสือ Thinkertoys ซึ่งเป็นคู่มือของการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่เขียนโดย ไมเคิล ไมแชลโค (Michael Michalko) ยกตัวอย่าง การคิดแบบกลับทางไว้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มจากโจทย์การเปิดร้านอาหาร สมมติฐานเดิม (old assumption) ของร้านอาหาร คือ
1. ร้านอาหารต้องมีเมนู
2. ร้านอาหารต้องเก็บเงินค่าอาหาร
3. ร้านอาหารต้องมีอาหารขาย

เขาบอกว่า ลองคิดกลับทาง (reverse assumption) ดูสิ จะได้มุมมองประหลาดๆ เช่น
1. ทำร้านอาหารที่ไม่ต้องมีเมนู
2. ทำร้านอาหารที่ไม่เก็บเงินค่าอาหาร
3. ทำร้านอาหารที่ไม่ขายอาหาร


ภาพบทความสมชัย

ฟังดูตอนแรก ดูเหมือนสุดจะเพี้ยน เพราะทุกประเด็นล้วนแทบไม่เคยเกิดขึ้น หรือ ไม่ใช่แนวทางใดๆ ของการประกอบธุรกิจร้านอาหารเลย

แต่เมื่อได้ความคิดที่กลับทางแล้ว เขาบอกให้ลองคิดต่อถึงวิธีการที่เป็นไปได้เพื่อให้ความคิดดังกล่าวเป็นจริง ดังนั้น คำตอบของเรื่องนี้ จึงกลายเป็นแนวคิดใหม่ๆ ในการทำร้านอาหารดังนี้

1. ร้านของเราไม่มีเมนูอาหาร ใครเข้ามาร้าน เชฟของเราจะไปอธิบายว่าวันนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้าง และร่วมกันคิดกับลูกค้าว่าจะทำอะไรทาน เครื่องปรุงก็เลือกตามใจชอบของลูกค้า เสร็จแล้วอาจตั้งชื่อเป็นเมนูพิเศษของลูกค้าแต่ละคนให้เป็นที่ระลึก

2. ร้านนี้ก็จะไม่เก็บเงินค่าอาหาร แต่อาจเก็บตามเวลาที่ใช้ในการนั่งรับประทานเป็นนาที โดยอาจมีอาหารให้นั่งทานเต็มที่ในช่วงเวลาที่คิดเงิน

3. ร้านนี้ตกแต่งสถานที่ให้น่าเป็นที่มารับประทานอาหารอย่างมีความสุข โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าสถานที่ ส่วนอาหารนั้นแต่ละคนไปหากันมาทานเอง ร้านเป็นเพียงให้สถานที่คนมาพบปะสังสรรค์ทานอาหารร่วมกัน

ผมอ่านดูก็รู้สึกแปลก คิดว่ามีความเป็นไปได้และไม่ได้ที่จะทำตามสิ่งที่คิดใหม่ แต่ก็เป็นการคิดกลับทางในมุมที่ไม่เคยเกิด แปลก แต่น่าสนใจ

รถยนต์ที่ไม่มีคนขับ Google ก็ยัง ทำรถต้นแบบ Waymo ออกมาแล้ว ใครจะไปรู้ ประเทศไทยวันหนึ่งข้างหน้าไม่ต้องมีเลือกตั้งก็มีนายกฯ ได้ก็ได้

|คอลัมน์ : Management Tools
| โดย : สมชัย ศรีสุทธิยากร
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3381 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค.2561


e-book-1-503x62