ฟื้นหมอชิตเข้ากฎหมายร่วมทุน ลุ้นสรุปผลศึกษา มี.ค./ธนารักษ์คาดวงเงินแตะ 2 หมื่นล้าน

05 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
"เทสโก้" คว้างานศึกษาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเก่าพื้นที่ 63ไร่สรุป มี.ค. ก่อนเสนอปลัดคลัง ดันเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พร้อมเสนออัยการสูงสุด ก่อนเข้าครม. ขณะที่ธนารักษ์ เดินหน้าพัฒนา คาดวงเงินแตะ 2 หมื่นล้าน เร่งหารือพันธมิตรกำหนดราคา-ทำเล-รูปแบบ-ระดับรายได้โครงการ Social Enterprise บ้านประชารัฐ ระบุแนวทางต้องไม่ซ้ำรอยแฟลตดินแดง หวังตอกเสาเข็มปี 59 เข้าอยู่อาศัยได้ปี 60

[caption id="attachment_29746" align="aligncenter" width="421"] จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล
อธิบดีกรมธนารักษ์[/caption]

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเก่าพื้นที่ 63-2-65 ไร่(บริเวณลานจอดรถ BTS หมอชิต)ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษา เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ ในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งกรอบการศึกษานั้น กำหนดให้มีการส่งแผนการศึกษาโครงการภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้(มีตามกรอบระยะเวลา 45 วัน)

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นที่ต้องรายงานคือ การศึกษาทางด้านการเงิน โดยเฉพาะรูปแบบการลงทุน ผลตอบแทนทางการเงินต่างๆ ตลอดจนข้อสรุปด้านการก่อสร้างเพื่อนำเสนอคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งอยู่ในชุดคณะกรรมการ พ.ร.บ.รวมทุนฯ

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ครั้งนี้ มีการกำหนดให้โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณหมอชิตแปลงนี้ เข้ากระบวนการพระราชบัญญัติร่วมทุนตามมาตรา 72 ซึ่งคณะกรรมการชุดเดิมที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานมีมติให้เจรจาต่อตามแนวทางที่ 3(เดิมกำหนดเป็น 3 แนวทางคือ เดินหน้าโครงการ,ยกเลิกและให้เจรจาต่อ)ซึ่งภายหลังที่นายรังสรรค์ฯ เกษียณอายุในคณะกรรมการชุดดังกล่าว จึงมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

สำหรับพื้นที่ด้านหน้า 23 ไร่ จะเปิดประมูลหาผู้ลงทุนวงเงินลงทุนประมาณ 1.8-2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ได้มีการว่าจ้าง บริษัทเทสโก้ จำกัด (ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม) และได้ลงนามเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม2559ที่ผ่านมา พร้อมกำหนดให้นำเสนอแผนการศึกษาดังกล่าวเข้ามาภายใน 45 วันคือภายในเดือนมีนาคม 2559 อย่างไรก็ตาม แผนการศึกษานั้นกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 รายงานในส่วนของโครงสร้าง , ระยะที่ 2 นำเสนอในส่วนของร่างโครงการตลอดจนวงเงินต่างๆและ ระยะที่ 3 คือการเสนอแผนในขั้นสมบูรณ์ (final)

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่คณะกรรมการเห็นชอบ พิจารณาในส่วนของสัญญาแล้วจะเสนอไปยังคณะกรรมการในชุดนายสมชัย ฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 72 ซึ่งกระบวนการต่อไปจะเข้ามาดูในส่วนของสัญญาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา จากนั้นจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในส่วนของค่าติดตั้ง-ฐานรากรวมถึงวงเงินความเหมาะสมที่จะต้องชำระดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ฯ ได้เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)สำหรับของบประมาณการศึกษาแผนดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยวงเงินได้

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าโครงการพัฒนาพื้นที่หมอชิตใช้เวลาหลายปีดังนั้นจึงทำให้การวิเคราะห์พื้นที่ให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพส่งผลทำให้อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินหรือ FAR ปรับลดลงจากเดิมที่ 8:1 ลดลงเหลือ 7:1 ส่งผลให้พื้นที่ใช้สอยอาจต่ำกว่า 7 แสนตารางเมตร ตามกฎหมายก่อสร้างที่ควบคุมพื้นที่ใช้สอยดังนั้นอาจต้องปรับในส่วนของอาคารสำนักงาน เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ตลอดจนที่จอดรถสถานีขนส่งให้มีพื้นที่ลดลง ซึ่งต้องรอผลการศึกษาอีกครั้งสำหรับกระบวนการคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 1-2 ปี น่าจะเริ่มต้นโครงการดังกล่าวได้

อนึ่ง โครงการSocial Enterprise สำหรับบ้านประชารัฐ ทางกรมธนารักษ์ร่วมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยจำนวน 6 แปลงซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่หลัก โดยเฉพาะในกรุงเทพที่จะเป็นพื้นที่นำร่อง สามารถก่อสร้างได้ทันที คือ ที่ราชพัสดุบริเวณวัดไผ่ตัน สะพานควาย , ที่ราชพัสดุบริเวณหลังโรงกษาปณ์ ถนนประดิพัทธ์, ที่ราชพัสดุจังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 9 ไร่, ที่ราชพัสดุ อำเภอชะอำ 2 แปลง และที่ราชพัสดุ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ภาคเอกชนที่จังหวัดเชียงใหม่เสนอให้นำที่มาพัฒนา 200-300 ไร่ด้วยเงื่อนไขขอวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยจะต้องเจรจาร่วมกันอีกครั้ง

เบื้องต้นกรมธนารักษ์จะใช้เกณฑ์บริหารจัดการที่อยู่อาศัยโมเดลของฮ่องกง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเพียง 1-1.5 ปีคือ ตอกเสาเข็มในปี 2559 และสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ในปี 2560 โดยระยะแรกน่าจะได้ที่อยู่อาศัยประมาณ 3.4 พันยูนิตแต่ยังต้องหารือร่วมกันในเรื่องการกำหนดทำเลที่ตั้งโครงการ ราคาที่อยู่อาศัย คงต้องไปดูว่าทำได้อย่างไรที่ทำให้คนหลายแสนคนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้ หากสรุปรายละเอียดได้โครงการ ระยะเวลาก่อสร้างแทบไม่ใช่ปัญหา เพราะปัจจุบันใช้เวลาเพียง 1 ปี หรือไม่ถึง 1 ปีครึ่ง การก่อสร้างบ้านก็แล้วเสร็จ เรียกว่าตอกเสาเข็มปี 2559 เข้าอยู่ได้อีกทีก็ปลายปี 2560 เบื้องต้นคาดว่าระยะแรกครบทุกที่ราชฯ น่าจะได้ที่อยู่อาศัยประมาณ 3.4 พันยูนิต

"ตอนนี้คงเหลือเพียงการกำหนดเกณฑ์การครอบครองบ้าน ซึ่งระยะเวลาต้องสอดคล้องกับรายได้ รวมถึงอาชีพของบุคคล ยกตัวอย่าง กรณีแฟลตดินแดง ที่สร้างเพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อย แต่กลับพบว่า มีการอยู่ยาวนานหลายสิบปีและมีการโอนเปลี่ยนมือขณะที่รายได้ของตัวบุคคลกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์ ดังนั้นต้องกำหนดเกณฑ์ให้ครอบคลุมทั้งระยะเวลาอยู่อาศัย ระดับรายได้ และที่สำคัญไม่สามารถเปลี่ยนมือหากเปลี่ยนมือผู้ที่เข้าอยู่ใหม่จะต้องถูกตัดสิทธ์โดยไม่สามารถโต้แย้ง"

ปัจจุบันถ้าเป็นที่อยู่อาศัยเรือนแถวในต่างจังหวัด ขนาด 70 ตารางเมตร ราคา 5 แสนบาท หากเป็นคอนโดมิเนียมขนาดพื้นที่ 22 ตารางเมตร ราคา 7 แสนบาทเป็นต้น แต่สศค. ธอส. และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ยังกำหนกราคาแตกต่างกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559