เงินเฟ้อ มิ.ย. สูงขึ้น 1.38% ผลจากราคาน้ำมันสูงขึ้น มากกว่ากำลังซื้อประชาชน

02 ก.ค. 2561 | 11:29 น.
เงินเฟ้อ มิ.ย. สูงขึ้น 1.38% ผลจากราคาน้ำมันสูงขึ้น มากกว่ากำลังซื้อประชาชน พร้อมปรับคาดการณ์ทั้งปีสูง 1.2%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย. 2561 เท่ากับ 102.05 เพิ่มขึ้น1.38% เป็นอัตราชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 จาก 2 เดือนก่อนหน้า สูงขึ้น 1.7% และ 1.49% แต่ยังขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 12 สาเหตุเงินเฟ้อที่ยังสูง เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงาน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19  หรือเพิ่มขึ้น 9.57 % ขณะที่ อาหารสดหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หรือติดลบ 1.75% โดยเดือน มิ.ย. สินค้าในการคำนวณเงินเฟ้อที่มีราคาสูงขึ้น 217 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 80 รายการ และลดลง 125 รายการ ซึ่งเมื่อหักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.83% จึงทำให้เฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไป 6 เดือนแรก ปี 2561 สูงขึ้น 0.97% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.69%


App11754759_ml

ทั้งนี้ ราคาสินค้าหลักที่กระทบต่อเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. จากการเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงาน เป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้น 12.90% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) สูงขึ้น 5.86% หมวดเคหสถานสูงขึ้น (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) 1.12 % หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.55% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.65% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้น 0.30% ขณะที่ อาหารสดลดลง ลบ 1.75% โดยผักและผลไม้ ลดลง 5.86% เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล ปริมาณผลผลิตผลไม้สดหลายชนิดออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลง 1.03% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.71%

ขณะที่ มีสินค้าบางรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมจีน) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กาแฟร้อน/เย็น ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) อาหารบริโภค-ในบ้านและนอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง อาหารเช้า) และหมวดเครื่องประกอบอาหาร (กะทิสำเร็จรูป น้ำปลา กะปิ) สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง 2561 ยังมีปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด การบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน การจ้างงาน การจัดเก็บรายได้ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้กระทรวงปรับเพิ่มคาดการณ์ใหม่ จากกรอบ 0.7-1.7% เป็น 0.8-1.6% โดยไตรมาส 3 คาดเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.35% และไตรมาส 4 สูงขึ้น 1.5% ทำให้ทั้งปีนี้โอกาสเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.2% และบนสมมุติฐาน คือ จีดีพีขยายตัว 4.2-4.7% น้ำมันดิบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากเดิม 55-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 32.-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาสินค้าเกษตรลบ 7 ถึงลบ 5% การบริโภค 3.7% และการส่งออกโตเกิน 8%


appTP11-3143-A

"ปีนี้ราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ขณะที่ การใช้จ่ายและความต้องการสินค้ายังมีต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ในเงินเฟ้อไม่สูง แต่ก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่า กำลังซื้อประชาชนไม่ดีหรือนิ่ง เพราะดูจากตัวเลขการบริโภคและการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งอย่างไรก็ต้องติดตาม โดยกระทวงพาณิชย์กำลังสำรวจและทำดัชนีสินค้าปัจจัย 4 โดยเฉพาะเพื่อให้เห็นถึงต้นทุนและกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพราะอะไร" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
น้ำมันแพงดันเงินเฟ้อพ.ค.พุ่งสูงสุดในรอบ16 เดือน
เงินเฟ้อทั่วไปพ.ค.พุ่งตามราคาน้ำมันEICคาดเฉลี่ยทั้งปี1.3%


e-book-1-503x62-7