Exclusive INTERVIEW | 'ธนวรรธน์' ปั้นโปรเจ็กต์! ดึงทุกฝ่ายร่วมแก้ราคายาง

10 เม.ย. 2561 | 10:35 น.
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2561 พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีประกาศแต่งตั้ง 'ธนวรรธน์ พลวิชัย' กรรมการการยางฯ (ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า) เป็นรักษาการผู้ว่าการการยางฯคนใหม่ แทน นายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้ว่าการฯ ที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราว เป็นกรณีพิเศษ ... "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสได้สัมภาษณ์รักษาการผู้ว่าการการยางฯ ถึงนโยบาย แผนงาน และทิศทางการบริหารยางพาราครบวงจรนับจากนี้


เร่งเพิ่มใช้ใน ปท.-ลดปลูก
'ธนวรรธน์' กล่าวว่า สิ่งที่ทางรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบภารกิจและนโยบายให้ กยท. ปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม คือ การเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศควบคู่กับการลดปริมาณผลผลิตยางในระยะกลางและระยะยาว มาตรการสำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนยาง ที่มีโอกาสเพิ่มรายได้มากขึ้น

โดย กยท. มีแนวทางเดิมสำหรับชาวสวนยางที่ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพ คือ การจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร โดยรับเงินสงเคราะห์การทำสวนยางสำหรับต้นยางพาราที่มีอายุเกิน 25 ปี จำนวนเงินไร่ละ 1.6 หมื่นบาท แล้วส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นทดแทน ส่วนแนวทางใหม่ รัฐบาลมีงบกลางปีประมาณ 1,500 ล้านบาท จะเป็นโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นยางที่อายุต่ำกว่า 25 ปี คือ ตั้งแต่ 1-25 ปี ก็สามารถที่จะดำเนินการปลูกพืชอื่นทดแทนได้


ผลผลิตเกินความต้องการ
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 จากที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo’s BoD) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กยท. เป็นครั้งแรก ซึ่งมีตัวแทนจาก 3 ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกเข้าร่วม ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้หารือกันถึงสถานการณ์ราคายางพารา มีความเห็นพ้องกันให้แต่ละประเทศเน้นเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น และดูแลผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยจะร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งมีอะไรอีกหลายอย่างที่ประเทศไทยจะต้องทำตามข้อตกลง

"สิ่งที่จะดำเนินการ คือ จะต้องใช้กลไกต่าง ๆ เพื่อพยายามทำให้ราคายางปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กับเกษตรกร แต่ประการแรกต้องทำความเข้าใจกับสังคมไทยและเกษตรกรไทยก่อนว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารยาง 3 ประเทศ กับคณะกรรมการด้านกลยุทธ์การตลาด ที่เรียกว่า ซีเอสเอ็มโอ (Committee on Strategic Market Operation) มีการประเมินสถานการณ์ยางพาราในตลาดโลก ยังมีปริมาณสูงเกินความต้องการของตลาด"

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบราคายางภายในประเทศของไทยกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไทยยังมีราคายางทุกประเภทโดยเฉลี่ยสูงกว่า 2 ประเทศ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่บางวันอาจจะใกล้เคียงกัน น้อยครั้งที่ราคายางไทยจะต่ำกว่า ยกตัวอย่าง ราคายาง ณ วันที่ 4 เม.ย. ราคายางของไทยราคาสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม แสดงว่าประเทศไทยขายยางในตลาดโลกได้ในราคาที่สูงกว่า


เตรียมระดมไอเดียแก้ยาง
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ราคายางเป็นปัญหาร่วม ซึ่งการทำงานของไทยกับนานาประเทศจะต้องทำงานภายใต้กรอบของประโยชน์ 3 ฝ่าย เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำทั้งข้อมูล ทำทั้งนโยบายที่จะส่งเสริม ก็คือ เพิ่มความต้องการใช้ในประเทศและพยายามหาตลาดต่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศก็ทำในลักษณะเดียวกัน จึงทำให้เกิดภาวะการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก

"ในเร็ว ๆ นี้ กยท. มีแผนจะจัดงานรับเบอร์ แฮกกาธอน (Rubber Hackathon) เพื่อใช้เป็นเวทีระดมความคิดเห็นแบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหายางพาราจากทุกภาคส่วนแบบ 360 องศา จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดนำมากรองเพื่อนำสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาให้บังเกิดผลอย่างชัดเจนต่อไป"

สำหรับงานรับเบอร์ แฮกกาธอน นี้ เป็นแนวคิดของคณะกรรมการใน IRCo นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะต้องนำไปปรึกษาและขอความคิดเห็นจาก นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบอร์ด กยท. ก่อน ซึ่งการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะมีรูปแบบครบวงจร ก็คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เรียกว่า ตั้งแต่ผลิตยันขาย จะมีกระบวนการ "Rubber Hackathon" จะเป็นการถอดโมเดลของต่างประเทศที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จ คาดว่าเมื่อมาใช้กับยางพาราจะประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน


รอบวัฏจักรราคายังไม่สูง
ดร.ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากที่เป็นกรรมการของ กยท. และถูกมอบหมายให้มาทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการการยางฯ สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมาย ซึ่งเป็นภารกิจและเจตจำนง คือ การขับเคลื่อนยางพาราของไทยให้เจริญเติบโตทั้งระบบ และทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกให้มากที่สุด รวมถึงผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลเสถียรภาพราคาและระบบยางพาราทั้งหมด ให้สามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรระยะยาว

"วัฏจักรยางพารารอบนี้ ราคาทรงตัวอยู่ในระดับที่ไม่สูง แต่ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน จะปล่อยให้ กยท. หรือ กระทรวงเกษตรฯ ทำงานเพียงลำพัง อาจทำได้ แต่ไม่มีผลสัมฤทธิ์เต็มที่ ดังนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ความคิดเห็นจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ที่จะต้องแก้ปัญหาและทำงานร่วมกัน ก็ขอใช้ระยะเวลาในการดูแลและแก้ไขไม่นานเกินไป ส่วนความคืบหน้าในมาตรการต่าง ๆ จะค่อยมีทยอยออกมาเรื่อย ๆ" นายธนวรรธน์ กล่าวตอนท้าย


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการการยางฯ (ผู้แทนผู้ประกอบการกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า) และรักษาการผู้ว่าการการยางฯคนใหม่

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 09

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลุ้น! 6 ตลาดกลางยางพารา ราคาเดียว ล่มหรือไม่ล่ม?
‘รองเท้ายางพารา’บูม GROWY รุกขึ้นห้างชูจุดขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ


e-book-1-503x62