ทางออกนอกตำรา : ‘หุ้นบลูชิพ’ ระทม ‘Ship หาย’ ทั้งกระดาน

22 มิ.ย. 2561 | 10:04 น.
63+6965 เดือนนี้ต้องบอกว่า “แดงเดือดเลือดพล่าน” เมื่อดัชนีหุ้นไทยไหลลงลึกกว่าที่คิด ดัชนีหุ้นไทยรูดลงรุนแรงเหมือนเลือดไหลโจ๊ก

ดัชนีหุ้นที่ยืนปักหลักอยู่ระดับ 1700 จุด เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ลงมาแตะตํ่าสุดที่ 1965.39 จุด ในเช้าวันที่ 15 มิถุนายน และปิดตลาดที่ 1704.82 จุด เฉพาะช่วง 2 วันปลายสัปดาห์ก่อนมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) หายไปไม่ตํ่ากว่า 1.34 แสนล้านบาท นักลงทุนต่างชาติเทขายไม่ตํ่ากว่า 1.72 หมื่นล้านบาท บรรดารายย่อย แมลงเม่าทุกข์ระทมตรมใจ เงินในกระเป๋าหายวับไปในพริบตา

หลายคนยังคิดว่า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเก่า ที่ไหนได้ เปิดหัวมา 18 มิถุนายน หุ้นไทยยังหัวทิ่มหัวตำจากกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยยาว 4 ครั้งในปีนี้ และความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่ “โดนัล ทรัมป์” ประกาศเปิดศึกเก็บภาษีการค้ากับ “พญามังกรจีน” ซึ่ง “สี จิ้นผิง” ก็ประกาศขึ้นภาษีการค้าตอบโต้ทันที 2 ปัจจัยกลายเป็นแรงกดดันการลงทุนจนดัชนีหุ้นปิดตลาด ที่ 1679.68 จุด ลดลง 25.14 จุด มูลค่าซื้อขาย 51,882 ล้านบาท

เพียง 3 วัน ความมั่งคั่งของคนไทยที่สะท้อนออกมาในรูปของมาร์เก็ตแคปหายวับไปกับตา 2.99 แสนล้านบาท เหลือแค่ 16.95 ล้านล้านบาท จากวันที่ 14 มิถุนายน อยู่ที่ 17.25 ล้านล้านบาท

ความเจ็บปวดยังไม่จางหาย 19 มิถุนายน ดัชนีหุ้นไทยลดลงรุนแรงปิดตลาดที่ 1639.54 จุด ลดลง 40.14 จุด ซื้อขายกัน 84,628 ล้านบาท มาร์เก็ตแคปลดลงมาอยู่ที่ 16.54 ล้านล้านบาท

ช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยลดลงราว 8-9 แสนล้านบาท

นักลงทุนต่างชาติดาหน้าเทขายสุทธิในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้กันหนักหน่วง 4 วัน ทำการเทขายไปสนั่นลั่นทุ่ง 26,000 ล้านบาท ขายในตลาดบอนด์อีกกว่า 22,000 ล้านบาท

หุ้นขนาดใหญ่ถูกนักลงทุนต่างชาติเทขายออกมาหนักหน่วง โดยเฉพาะในกระดาน NVDR

เท่าที่ผมไปขุดคุ้ยข้อมูลมาจากผู้จัดการกองทุนพบว่า หุ้น KBANK ขายสุทธิกว่า 5,800 ล้านบาท EGCO ขายไป 5,600 ล้านบาท SPRC ขายไป 3,000 ล้านบาท BBL ขายไปกว่า 3,000 ล้านบาท KKP ขายไป 2,300 ล้านบาท BANPU ขายออกไป 2,400 ล้านบาท SIRI ขายไป 1,800 ล้านบาท AEONTS ขายสุทธิ 2,800 ล้านบาท KCE ขายสุทธิ 1,200 ล้านบาท BCPG ขายสุทธิ 900 ล้านบาท

และเมื่อพิจารณาถึงหุ้นใหญ่พื้นฐานดี ราคาดี ที่ต่างชาติเชื่อถือและดันตลาดมาอย่างต่อเนื่อง หรือ “หุ้นบลูชิพ” ไล่จาก KBANK, PTT, CPALL, IVL, ADVANC, BBL, SCB, AOT, SCC, PTTGC, PTTEP, CPN ซึ่งคิดเป็น 51% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ต่างชาติถือล้วนแล้วราคาล่วงเลือดสาดเต็มกระดานแทบทั้งสิ้น

หุ้นปูนใหญ่ SCC ราคาตํ่าสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน ไต่ระดับ 410-420 บาท ซื้อขายกัน 5,000 ล้านบาทในห้วง 18-19 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ขนาดพี่ใหญ่มือถือ ADVANC ราคาเหวี่ยงแบบ W-Shape ลงลึก 189-191 บาท ซื้อขายกันวันละ 1,560-2,000 ล้านบาท

BANPU หุ้นบลูชิพอีกตัวเคลื่อนไหวบริเวณราคา 19.80- 20.60 บาท ซื้อขายกันวันละ 1,300-2,750 ล้านบาท
web-01 นักลงทุนที่เคยชื่นชอบหุ้นบลูชิพ ต่างกุมขมับส่งเสียงคำราม “BULLSHIT” กันถ้วนหน้า เพราะราคาที่ลงนั้นพากันจนลงฮวบฮาบ ภาษาคน “Gen Z” เขาร้องระงมกันว่า “Ship หาย” ใครที่ดาหน้าควักเงินมาไล่ราคาลงหุ้นตัวใหญ่ต้องพิจารณากันให้ดี เพราะถึงตอนนี้มีการปรับสถานะการลงทุนทำกำไรกันหนักหน่วงจริงๆ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่า รับน้อง “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ บอกว่า หุ้นไทยที่ปรับลงแรงมาจากปัจจัยจากนอกประเทศทั้งจากสงครามการค้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) การประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กดดันให้เงินทุนไหลออกและไม่รู้ว่าจะกินเวลานานแค่ไหน เพราะถึงตอนนี้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติเหลือแค่ 30-31% ของมาร์เก็ตแคปแล้ว

เรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่นักลงทุนต้องหาข้อมูลมาพิจารณา เพื่อรักษาเงินในกระเป๋า อย่าให้ “Ship หาย” ไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ใครที่อยากรู้ว่าทิศทางฝรั่งเทขายจะไปทางไหน ผมอยากให้ไปอ่านบทความของ “เสี่ยทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ฯ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน

เสี่ยทอมแจกแจงชัดว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยก็เริ่มดูดีขึ้น ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็ยังมีแนวโน้มที่ดี ราคาหุ้นโดยรวมก็ไม่ถือว่าแพง แต่นับจากต้นปี ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้ว 165,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะเพิ่งผ่านมาแค่ 5 เดือนกว่า ๆ และคิดเป็นเกือบ 4% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่ถือโดยต่างชาติ

ถ้ารวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเป็นปีแรกหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เงินเริ่มไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จะได้ยอดขายสะสมทั้งหมดที่สูงถึง 498,000 ล้านบาท

เสี่ยทอมไขปมว่า ที่น่าสนใจคือ ต่างชาติเอาหุ้นที่ไหนมาขาย เพราะถ้าดูจากยอดซื้อสะสมของต่างชาติระหว่างปี 2009-2012 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากที่สุด ก็เข้ามาแค่ 191,000 ล้านบาท แต่ทำไมขาออกถึงออกไปมากมายกว่าหลายเท่า แม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 เงินยังไหลออกแค่ 162,000 ล้านบาทเท่านั้น

ทอมได้ลองทำวิธีนี้ โดยการปรับฐานยอดซื้อช่วงปี 2009-2012 มาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ผลที่ได้คือ 357,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังคงตํ่ากว่าเงินที่ไหลออกอยู่ดี จึงแปลง่ายๆ ว่าเงินที่ไหลเข้ามาช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ไหลออกไปหมดแล้ว และบางส่วนยังเป็นหุ้นที่สะสมมาในอดีต

ทอมตอกตะปูฝาโลงให้ขบคิดกันว่า ถึงตอนนี้สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ เหลือแค่ 26.7% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทย ต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี น่าจะพอตอบได้ว่าแรงขายจากต่างชาติไม่น่าจะมีสูงมากแล้วนับจากนี้

หุ้นบลูชิพต้องพึ่งกำลังซื้อในประเทศและสถาบันไทยเสียแล้วพี่น้อง...จะมาอาศัยฝรั่งลากขึ้นไม่ได้แล้ว ดูอย่าง PTT ใครจะคาดคิดว่าจะหล่นลงมา 47-50 บาท สถานการณ์ตอนนี้ ต้องมั่นคง ใจเย็น จึงจะเห็นอนาคตครับ

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
|โดย | บากบั่น บุญเลิศ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3377 ระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7