จี้ SMEs ปิดเสี่ยงบาท! เตือนทุนไหลออกดันค่าเงินหลุด 33 บาทต่อดอลล์

27 มิ.ย. 2561 | 09:36 น.
270661-1618 app-P1-SCOOP-49

นักการเงินมองระยะสั้น บาทอ่อนทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ หลังเผชิญแรงกดดันเทขายสินทรัพย์จากสงครามการค้า เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย แนะผู้ส่งออก-นำเข้า ทำ FX Option ประกันความเสี่ยง ฟากแบงก์พาณิชย์ประสานเสียง ลูกค้าเอสเอ็มอีเมนซื้อป้องกันค่าเงิน เหตุรอลุ้นบาทอ่อนต่อ ต้นทุนแพง




พูน

นายพูน พานิชพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากแรงเทขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง โดยมองกรอบระยะสั้นไม่เกิน 1 เดือน เงินบาทอาจจะอ่อนค่าทะลุระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ซึ่งช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนักและไม่ชัดเจน อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินของผู้ส่งออก แต่ลูกค้า ทั้งนักลงทุนสถาบันและผู้ส่งออกยังไม่ได้รีบเข้ามาทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เพราะรอลุ้นให้เงินบาทไปอยู่ในระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้ส่งออกไม่ได้รีบขายดอลลาร์

ขณะที่ ผู้นำเข้ามี 2 ส่วน คือ กลุ่มที่เริ่มตกใจและไล่ซื้อเงินดอลลาร์ ประกอบกับใกล้สิ้นเดือน ซึ่งจะมีกระแสเงินไหลเข้ามา และกลุ่มที่รอลุ้นบาทจะกลับมาแข็งค่า เพราะแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะกลับไปแข็งค่าได้จากปัจจัยพื้นฐาน เศรษฐกิจไทยที่ยังคงดีขึ้น การท่องเที่ยวยังคงสดใส แต่ก็เริ่มเห็นกลุ่มนำเข้าซื้อป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น หรือ เริ่มกังวล หากค่าเงินบาทหลุดไปอยู่ที่ 33.50-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจากบทวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ผู้นำเข้าและส่งออกมีพฤติกรรมรอดูทิศทางค่าเงินก่อนป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น (Hedging Ratio) เช่นเดิม ป้องกัน 30% อาจจะเพิ่มเป็น 40-50%

 

[caption id="attachment_293414" align="aligncenter" width="336"] สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์
รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกรวมของไทยที่ 53,153 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประมาณ 30% ที่เหลือ 70% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วงที่เงินบาทผันผวน จะเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ป้องกันความเสี่ยงอยู่แล้ว จึงบริหารจัดการได้ แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีส่วนน้อยที่ป้องกันความเสี่ยงไม่ถึง 10% และไม่ได้ซื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นต้นทุนและรอลุ้นทิศทางค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อน จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ส่วนนำเข้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงนี้อาจจะเห็นผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าหรือซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ และอาจจะเห็นผู้ประกอบการเข้ามาใช้ FX Option เพิ่มมากขึ้นได้

 

[caption id="attachment_293415" align="aligncenter" width="503"] สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) ©theleader.asia สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย)
©theleader.asia[/caption]

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ปัจจุบัน ลูกค้าเอสเอ็มอีทั้งในส่วนส่งออกและนำเข้ามีความตื่นตัวในการทำป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้นปีถึงปัจจุบัน จะเห็นว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนและค่อนข้างสวิง ทำให้ลูกค้าตัดสินใจที่จะทำป้องกันความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นได้จากสาย Hot Line ที่ลูกค้าโทรเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องแนวโน้มทิศทางค่าเงินและมีสัดส่วนตกลงทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มียอดธุรกรรมการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากดูจากวงเงินที่ขอเข้ามาที่เยอะขึ้น


MP24-3377-A

น.ส.เทียนทิพย์ นาราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในระบบและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบ่งกลุ่มลูกค้า เพื่อเดินสายให้ความรู้เรื่องของการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินผ่านการทำ FX Option เนื่องจาก ธปท. และธนาคารมีความกังวลในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนอาจจะกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มส่งออกและนำเข้า ให้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ลูกค้า หรือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้สัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีการป้องกันความเสี่ยงเป็นประจำ หรือ ทำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในส่วนของเอสเอ็มอี โดยส่วนใหญ่จะไม่ป้องกันความเสี่ยงเลย หรือ ทำน้อยมาก ซึ่งธนาคารทีเอ็มบีหรือธนาคารอื่นเชื่อว่า พยายามแนะนำลูกค้าเอสเอ็มอีในการป้องกันความเสี่ยง แต่จากโครงการนี้ พบว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างตื่นตัวมากขึ้น


app32601129_s

"ลูกค้าเอสเอ็มอีไม่เหมือนบริษัทใหญ่ เพราะคิดว่า ไม่ทำก็ไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ป้องกันค่าเงินเลย แต่จะทำก็ต่อเมื่อรู้ว่า มียอดคำสั่งซื้อชัดเจนและค่าเงินสวิงมาก แม้ว่าจะทำแต่ก็ยังน้อยอยู่ เราจึงพยายามจะแนะนำลูกค้าผ่านประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพราะเชื่อว่า โครงการทำ FX Option จะเป็นประโยชน์กับลูกค้า ซึ่งก็เห็นลูกค้าตื่นตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ลูกค้าทีเอ็มบีส่วนใหญ่เป็นนำเข้าค่อนข้างเยอะ"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24-27 มิ.ย. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
KBANKดึงฐานข้อมูล วิเคราะห์ปล่อยกู้SMEs
เกาะเทรนด์ดิจิทัล! ช่องทางรวย SMEs มือใหม่ยุค 4.0

e-book-1-503x62-7