อุทาหรณ์จากคดีปกครอง : ถูกบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถตัก เหตุไม่ยอมไปทดลองตักผักตบชวา

20 มิ.ย. 2561 | 05:29 น.
 

26656

ในการตรวจรับพัสดุของหน่วยงานของรัฐ โดยทั่วไปคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายอาจตกลงกันให้มีการตรวจสอบทดลองคุณภาพของพัสดุที่จัดซื้อก่อนการส่งมอบ โดยคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายจะต้องรับรองว่า เมื่อตรวจสอบทดลองแล้วพัสดุนั้นจะต้องมีคุณภาพและคุณสมบัติไม่ตํ่ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา หากผู้ขายไม่ยินยอมให้ทำการตรวจสอบ หรือมีการตรวจสอบแล้วแต่ผลการตรวจสอบไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ก็อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ซื้อบอกเลิกสัญญาซื้อขาย

แต่โดยทั่วไปแล้ว แม้ในสัญญาซื้อขายจะระบุถึงการตรวจสอบคุณภาพ แต่ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าการตรวจสอบทดลองคุณภาพของพัสดุจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ภายใต้กรอบระยะเวลาเท่าใด จึงมีปัญหาให้ต้องขบคิดว่า หากในสัญญาไม่ได้กำหนดว่าการตรวจสอบทดลองพัสดุต้องมีขอบเขตอย่างไร หน่วยงานของรัฐในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อจะใช้อำนาจตามอำเภอใจได้หรือไม่ และหากผู้ขายไม่ดำเนินการตามวิธีการตรวจสอบทดลองดังกล่าว และหน่วยงานของรัฐได้บอกเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุดังกล่าว ผู้ขายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เพียงใด?  วันนี้นายปกครองมีคำตอบมาให้ครับ
CiHZjUdJ5HPNXJ92GQBCJBvTxg4reJleqn เรื่องมีอยู่ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งหนึ่งได้ประกาศประกวดราคาจัดซื้อรถตักล้อยางชนิดขับเคลื่อนด้วยตัวเอง จำนวน 1 คัน ซึ่งบริษัท ก. ได้เข้าร่วมและเป็นผู้ชนะการประกวดราคาครั้งนี้ และได้เข้าทำสัญญาซื้อขายกับ อบจ. ต่อมา บริษัท ก. ได้จดทะเบียนโอนรถตักล้อยางและส่งมอบรถตักล้อยางให้กับ อบจ. แต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ตรวจรับและให้บริษัท ก.นำรถตักล้อยางไปทำการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในพื้นที่จริงเป็นเวลา 10 วัน

บริษัท ก. ไม่เห็นด้วยและมีหนังสือทวงถามให้ อบจ. ชำระราคารถตักล้อยางและค่าเสียหายอันเกิดจากการชำระหนี้ล่าช้า คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงได้เสนอความเห็นต่อนายก อบจ. ว่าบริษัท ก. ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา โดยไม่ยินยอมให้มีการทดสอบประสิทธิภาพและสมรรถนะของรถตักล้อยางในพื้นที่จริง เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา เห็นควรบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถตักล้อยาง อบจ. จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถตักล้อยาง และภายหลังจากที่สัญญาเลิกกันแล้วบริษัท ก. ก็ได้นำรถตักล้อยางคืนไป โดย อบจ. มิได้เอารถดังกล่าวไว้ใช้ประโยชน์

บริษัท ก. จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ อบจ. ชำระเงินตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ย

จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า การที่บริษัท ก. ปฏิเสธไม่นำพัสดุไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในพื้นที่จริง เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญา หรือไม่ ???
webtshirt ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การตรวจทดลองรถตักล้อยางตามสัญญาซื้อขาย โดยปกติทางการค้าจะเป็นแค่เพียงการทดลองการใช้งานเบื้องต้นของรถคันดังกล่าวเท่านั้น โดยทำการตรวจทดลองในวันส่งมอบซึ่งมีคู่สัญญาอยู่ร่วมในการตรวจทดลองด้วย การที่ อบจ. ให้บริษัท ก. นำรถตักล้อยางไปทำการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในพื้นที่จริง โดยการปฏิบัติงานในการตักผักตบชวาเป็นเวลา 10 วัน จึงเป็นการตรวจสอบที่เกินกว่าปกติในการตรวจรับพัสดุของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ เพราะการตรวจสอบทดลองตามข้อสัญญาดังกล่าว หมายถึงการตรวจทดลองตามธรรมเนียมปฏิบัติในเวลาตรวจรับพัสดุเท่านั้น มิใช่การนำไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่เป็นเวลานานถึง 10 วัน เมื่อบริษัท ก. ไม่ยอมปฏิบัติตาม อบจ. จึงไม่อาจใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ และหาก อบจ. มีความประสงค์ที่จะดำเนินการเช่นนั้น จะต้องกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาเป็นการเฉพาะ
56665 เมื่อบริษัท ก. ไม่มีเหตุทำผิดสัญญาซื้อขายดังกล่าว การที่ อบจ. มีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถตักล้อยางต่อบริษัท ก. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม การที่บริษัท ก. ฟ้องขอให้ อบจ. ชำระค่ารถตักล้อยางให้แก่ตนนั้น เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับให้ได้ แต่ศาลก็ได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่บริษัท ก. (สำหรับ ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 198/2561)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้นำหลักปกติทางการค้าในการตรวจสอบทดลองสินค้ามาปรับใช้ในการตรวจสอบทดลองพัสดุก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นการอธิบายว่า ในการตรวจรับพัสดุแม้ข้อสัญญาจะกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบทดลองคุณภาพของพัสดุที่จัดซื้อก่อนการส่งมอบ โดยคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายจะต้องรับรองว่า เมื่อตรวจสอบทดลองแล้วพัสดุนั้นจะต้องมีคุณภาพและคุณสมบัติไม่ตํ่ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา

แต่การทดสอบนั้นก็จะต้องเป็นไปตามหลักปกติทางการค้า กล่าวคือ เป็นแค่เพียงการทดลองการใช้งานเบื้องต้นเท่านั้น อีกทั้งการตรวจสอบทดลองตามสัญญาซื้อขาย ก็หมายถึงการตรวจทดลองตามธรรมเนียมปฏิบัติในเวลาตรวจรับพัสดุเท่านั้น หากหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์ที่จะดำเนินการเป็นอย่างอื่น ก็จะต้องไปกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาเป็นการเฉพาะ... ครับ!!!

|คอลัมน์ : อุทาหรณ์จากคดีปกครอง
|โดย : นายปกครอง 
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3376 ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62