นายกฯ ยัน 'โทษประหาร' ยังต้องมี "เป็นความจำเป็น เพื่อบ้านเมืองสงบ"

19 มิ.ย. 2561 | 13:38 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่มีข่าวตามสื่อต่าง ๆ เเละโลกออนไลน์สนใจเเละเเชร์ข่าว กรมราชทัณฑ์บังคับโทษประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย (นายธีรศักดิ์ หลงจิ) ในคดีฆ่าชิงทรัพย์ด้วยการฉีดยาสารพิษให้ตาย เมื่อเย็นวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา

กรณีดังกล่าวนับเป็นนักโทษคนแรกในรอบ 9 ปีของไทย ที่ต้องประหารชีวิตตามคำพิพากษา หลังจากที่บังคับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษกับนักโทษคนล่าสุด เมื่อปี 2552 เเละหากครบ 10 ปี โทษประหารชีวิตต้องยกเลิก โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยาย หากไม่มีการประหารนักโทษภายใน 10 ปีนั้น เเละหลายฝ่ายคัดค้านในเรื่องนี้นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตของไทย ว่า เป็นกฎหมายของเราที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ตอนที่มีการพิจารณาว่า จะยกเลิกโทษประหารหรือไม่นั้น เสียงประชาชนส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบัน มีคดีร้ายแรงหลาย ๆ คดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ ซึ่งเป็นเรื่องความจำเป็นของเราและเป็นความต้องการของประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ได้ออกมาแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการประหารชีวิต นายธีรศักดิ์เเละคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกสถานการณ์ดังที่เน้นย้ำโดยเลขาธิการสหประชาชาติในหลายวาระ

OHCHR ระบุว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. กรมราชทัณฑ์เผยแพร่แถลงการณ์ว่า นายธีรศักดิ์ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษ เเละถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุทำร้ายและใช้มีดแทงบุคคลอื่นจนถึงแก่ความตายในภาคใต้ของประเทศไทย จนกระทั่งขณะนี้ เหตุผลของการดำเนินการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ยังไม่ปรากฏแน่ชัด โดยพิจารณาว่า รัฐบาลไทยมิได้ดำเนินการประหารชีวิตในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง เนื่องจากประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับรัฐจำนวนมาก ที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว

น.ส.ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนของ OHCHR กล่าวว่า การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทย ทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ ระหว่างการทบทวนสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมาชิกสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต คำมั่นดังกล่าวได้รับการกล่าวย้ำอีกในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยเร่งด่วนเพื่อคืนสู่ภาวะการงดเว้นการใช้โทษประหารชีวิตในกระบวนการนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์

OHCHR ยังมีความกังวลด้วยว่า การประหารชีวิตได้ดำเนินการขึ้นโดยปราศจากการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ความโปร่งใสเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชาชนโดยทั่วไปที่จะได้รับทราบเพื่อการอภิปรายสาธารณะและความรับผิดตามระบบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ประชาคมโลก ซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็มีความสนใจที่จะติดตามการเคารพและปกป้องสิทธิการมีชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้สรุปว่า การเข้าถึงข้อมูลของรัฐในเรื่องการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นผลประโยชน์อันชอบธรรมของสาธารณชน และส่งผลต่อการตระหนักว่าเป็นสิทธิทั่วไปที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนั้นภายใต้มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

OHCHR ยังคงกังวลใจจากการถอยหลังของการปฏิรูปโทษประหารชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นภาพสะท้อนอีกภาพหนึ่งของแนวโน้มข้อกังวลในเรื่องนี้


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'แอมเนสตี้' เผยยอด "โทษประหารชีวิต" ปี 60 - 142 ประเทศเลิกไปแล้ว จีนนั่งเเท่นเบอร์หนึ่ง
ฐานโซไซตี : บ้านเอื้ออาทรหลอน”วัฒนา” โทษแรง“ประหารชีวิต”


e-book-1-503x62-7