รัฐสูญแสนล้าน กับสปิริตกสทช.

16 มิ.ย. 2561 | 03:14 น.
562656 การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ล้มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 รายคือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ ดีแทค บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล

แม้ว่า กสทช.จะสามารถขยายการยื่นซองประมูลออกไปอีก 30 วัน ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม แต่ถ้าดูจากท่าทีของเอกชนทั้ง 3 รายคงไม่มีรายใดกลับลำเข้าประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 15 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต อายุสัญญา 15 ปี ภายใต้เงื่อนไขประมูล N-1 (N = จำนวนผู้เข้าประมูล) ที่มีราคาตั้งต้นคลื่นอยู่ที่ 37,475 ล้านบาท เมื่อถึงเวลานั้น กสทช. คงต้องมาทบทวนเงื่อนไขการประมูลกันใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงสามารถเปิดประมูลได้อีกครั้ง
1529167132128 อย่างไรก็ตามการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้เงื่อนไขที่กสทช. กำหนดนั้น บรรดานักวิชาการ หรือแม้แต่กรรมการกสทช. อย่าง น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ก็ออกมาเตือนแล้วว่า จะจัดสรรได้ไม่หมด นอกจากนั้นในปี 2563 กสทช.เตรียมเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่นำมาใช้ในเทคโนโลยี 5 จี ทำให้ความจำเป็นประมูลครั้งนี้น้อยลงไปอีก เพราะผู้ให้บริการสามารถกำเงินรอประมูลคลื่น 700 มาทดแทนได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าประมูลคลื่น 1800 แต่อย่างใด

หากย้อนกลับไปดูผลงานของกสทช.ชุดนี้ จะพบการทำงานที่ผิดพลาด จนอาจเรียกได้ว่าล้มเหลวอยู่หลายเรื่อง แต่กสทช.เองไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือขอโทษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการประมูลทีวีดิจิตอล ที่สุดท้ายต้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหา
750x422_804871_1529043146 เช่นเดียวกับการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปล่อยให้ บริษัทแจส โมบาย จำกัด เข้ามาเคาะราคาคลื่นจนสูงลิ่ว จนทำให้เอกชนอีก 2 รายคือ เอไอเอส และทรู ที่ได้ใบอนุญาตมีต้นทุนทางการเงินสูง เป็นเหตุนำมาสู่ข้ออ้างเสนอให้มีการใช้มาตรา 44 ยืดการจ่ายค่างวดงวดสุดท้ายออกไป 5 งวด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ล้มอย่างไม่เป็นท่าครั้งนี้ จะส่งผลต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลตามมา เพราะตามประมาณรายได้ในปีงบประมาณ 2562-2565 ได้รวม “รายได้พิเศษ” จากการประมูลใบอนุญาต TV Digital และใบอนุญาต 4จี ไว้ในงบประมาณทั้งสิ้น 135,900 ล้านบาท เราจึงขอเรียกร้องให้ กสทช.ออกมาแสดงความรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมามากกว่านี้

|บทบรรณาธิการ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3375 ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว