ดีเอสไอรอชี้EARTH หลังก.ล.ต.ฟันบอร์ด

23 มิ.ย. 2561 | 03:30 น.
ดีเอสไอเตรียมสอบ EARTH หลังก.ล.ต.ฟัน 11 บอร์ด ผิดฐานกุหนี้เพิ่ม 2.6 หมื่นล้านโยงกับคดีที่กำลังสอบสวนหรือไม่ เชื่อไม่กระทบแผนฟื้นฟู ด้านกรุงไทยระบุ สำรองเต็ม 1.4 หมื่นล้านบาทแล้ว

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กล่าวโทษ กรรมการและอดีตกรรมการ(บอร์ด)บริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) หรือ EARTH 11 รายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณียินยอมให้ลงข้อความเท็จ หรือ ไม่ลงข้อความสำคัญในรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น 2.6 หมื่นล้านบาท ลวงไม่ให้ผู้ลงทุนและเจ้าหนี้รู้รายละเอียดที่แท้จริงของหนี้สิน

แหล่งข่าวจากดีเอสไอเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขั้นตอนจากนี้ ต้องมาพิจารณาว่า เข้าลักษณะคดีอาญาของไทยหรือความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่ รวมถึงการกล่าวโทษของก.ล.ต.มีความเกี่ยวโยงกับคดีที่ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบสวน ซึ่งเป็นคดีที่ธนาคารกรุงไทย ยื่นฟ้องอาญามาก่อนหน้าหรือไม่ ถ้าเป็นความผิดอาญาในประเทศ อธิบดีดีเอสไอจะสั่งฟ้องแต่หากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจะดำเนินการสั่งฟ้อง

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตบอร์ดเอิร์ธ เป็นการยืนยันในสิ่งที่ธนาคารพบและกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทนี้ และจะเป็นข้อมูลชิ้นใหม่ที่ศาลล้มละลายกลาง นำไปประกอบการพิจารณา ซึ่งธนาคารไม่สามารถก้าวล่วงได้

ดีเอสไอ3

“ก.ล.ต.ชี้ เป็นข้อมูลแค่เรื่องเดียว ซึ่งเป็นงบการเงินที่ยื่นขอฟื้นฟู แต่ยังมีอีกตั้งหลายกระบวนการ เพราะมีหลายส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนภาระหนี้เงินกู้ที่ปล่อยไปแบงก์กันสำรองเต็มแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาทและมูลหนี้ที่ปล่อยกู้ไปแล้ว ศาลนัดลงมติในแผนฟื้นฟู”

สำหรับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ รวมเงินต้น 14,002 ล้านบาทไม่รวมดอกเบี้ยของ EARTH ประกอบด้วย กรุงไทย 10,038 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 2,309 ล้านบาท กสิกรไทย 1,326 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) 331 ล้านบาท

แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการเอิร์ธยังเดินหน้าต่อไป เพราะเอิร์ธไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ โดยในวันที่ 2 สิงหาคม นอกจากโหวตแผน ตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางแล้ว ที่ประชุมจะให้โหวตแต่งตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ (บอร์ดเจ้าหนี้) ซึ่งมาจากตัวแทนเจ้าหนี้ 7 คนคือ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ และตั๋วแลกเงิน(บี/อี) ส่วนกรณีบริษัท อีวาย คอรร์ปอเรท แอดไวซอรี่เซอร์วิสเซส จำกัด ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหลักประกันของเจ้าหนี้รายที่ 2196 คือ ธนาคารกสิกรไทย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น กระบวนการจะเดินควบคู่กับการโหวตแผน

ทั้งนี้ อีวายจัดทำแผนฟื้นฟู 2 แผน ทั้งกรณีเจ้าหนี้รายที่ 2196 เป็นเจ้าหนี้มีประกันและเป็นเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน เพื่อกำหนดสิทธิออกเสียงทั้ง 2 ส่วน ซึ่งต้องรอคำสั่งศาลว่า เจ้าหนี้รายที่2196 จดทะเบียนหลักประกันถูกต้องหรือไม่ แต่ไม่ว่า ศาลจะมีคำสั่งอย่างไรก็สามารถจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามที่ทำแผนไว้แล้ว

        หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3375 ระหว่างวันที่ 17 - 20 มิ.ย. 2561 e-book-1-503x62-7