ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในปี 2559

02 ก.พ. 2559 | 23:00 น.
ในช่วงวิกฤติทางการเงินเมื่อหลายปีก่อน เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ได้ช่วยพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกไว้ มาบัดนี้ ประเทศพัฒนาแล้วพากันเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายกลับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แถมประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศเริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจแล้วด้วย ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศต่างก็มีรายงานวิเคราะห์ออกมาตรงกันว่า ในปี 2559 ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและความผันผวนของค่าเงินมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และเศรษฐกิจจีนที่ชะลออัตราการเติบโตลง

หากเทียบกับภูมิภาคอื่น เอเชียถือว่าดูดีกว่าเพื่อน คือเศรษฐกิจมีการเติบโตพอใช้ ถึงจะไม่หวือหวาเช่นที่ผ่านมาก็เถอะ (เว้นแต่เอเชียกลาง ซึ่งหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น อาเซอร์ไบจาน ขณะนี้กำลังอ่วมเพราะน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก ราคารูดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ดังที่ทราบกันดี)ขณะที่หลายประเทศในลาตินอเมริกาประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเสียแล้ว โดยบราซิลดูจะหนักหนาที่สุด แอฟริกาก็พอไปได้ ประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปตะวันออกก็เพิ่งเริ่มฟื้นตัวตามกลุ่มสหภาพยุโรป ในภูมิภาคเอเชียดาวเด่นเห็นจะหนีไม่พ้นอินเดีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แซงหน้าจีนเสียแล้ว เพราะอินเดียได้ประโยชน์เต็มๆ จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ และเศรษฐกิจอินเดียพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากทั้งจีนและสหรัฐฯ ดังเช่นประเทศอื่นในเอเชียที่พึ่งการส่งออกเป็นหลักและได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนไม่มากก็น้อยขึ้นก็อยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งโดยทั่วไป ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่าประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบ อาทิ แร่เหล็ก ถ่านหินและทองแดง เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากภาคการผลิตของจีนไม่ได้ขยายตัวมากเช่นที่ผ่านมา การส่งออกของจีนลดลง การใช้สินค้าวัตถุดิบจึงลดลง ซึ่งด้วยความที่จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ2 ของโลก เมื่อความต้องการสินค้าลดลง ก็ส่งผลทำให้ราคาสินค้าตกลงอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่ง ความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหา อีกส่วนคือมีการผลิตน้ำมันมากเกินไปในขณะนี้แถมอิหร่านที่มีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมสำรองมหึมา ยังหลุดพ้นบ่วงการลงโทษทางเศรษฐกิจ เข้ามาร่วมแจมการผลิตน้ำมันส่งออกได้แล้วในปีนี้ราคาน้ำมันจึงคงจะไม่ขยับสูงขึ้นนัก

นอกจากความท้าทายจากรายได้ที่จะหดหายเนื่องจากตลาดใหญ่อย่างจีนซื้อสินค้าน้อยลง และราคาสินค้าตกต่ำแล้ว ประเทศกำลังพัฒนายังเผชิญกับความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกอีกด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงมีแนวโน้มว่านักลงทุนก็จะขนเงินออกจากตลาดเกิดใหม่เพื่อไปลงทุนให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าในสหรัฐฯ โดยมีความกังวลถึงขนาดว่าอาจเกิดสถานการณ์ซ้ำรอยกับในช่วงวิกฤติการเงินเอเชียปี ๒๕๔๐ เมื่อเงินทุนไหลออกจนทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตกต่ำลงหลายฝ่ายจึงหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมออกไป ซึ่งอย่างน้อยขณะนี้ ก็จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจนถึงเดือนมีนาคมเมื่อมีการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งต่อไป

สำหรับทางออกระยะยาว หลายฝ่ายต้องการเห็นจีนปรับตัว เพื่อเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขึ้นกับภาครัฐ ไปสู่เศรษฐกิจระบบตลาด อย่างราบรื่น เนื่องจากระบบตลาดจะเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เศรษฐกิจได้ดีกว่า ทั้งนี้ เพื่อที่จีนจะได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป โดยในขณะนี้เศรษฐกิจจีนได้เติบโตขึ้น และกำลังขยับจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตเพื่อส่งออก ไปสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการและการบริโภคในประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการปรับตัว

ประเทศกำลังพัฒนาอื่นก็จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เศรษฐกิจของตนเช่นกันเพื่อให้มีการเติบโตต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงาน ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็คงไม่สามารถตามทันประเทศพัฒนาแล้วได้ และอาจต้องสลับกันรับวิกฤติเช่นนี้เรื่อยไปครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559