ผู้ถือหุ้น IFEC ร้อง ก.ล.ต. เหตุพบพิรุธผู้บริหารทุจริต

07 มิ.ย. 2561 | 09:22 น.
ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC เข้าร้องเรียน ก.ล.ต. ครั้งที่ 4 เหตุพบพิรุธการทุจริตของผู้บริหารบริษัท

- 7 มิ.ย. 61 - ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ได้เดินทางมาร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ครั้งที่ 4 เพื่อยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบขบวนการประนอมหนี้ที่เกิดขึ้น โดยทางกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ตั้งข้อสงสัยว่า กลโกงรูปแบบใหม่ของอดีตผู้บริหารไอเฟค ส่งนายหน้าเข้าเจรจา อ้างยินยอมให้นำโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ มาค้ำประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้ โดยที่ผู้สนใจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเบื้องต้น 3 % ของยอดหุ้นกู้ เพื่อไปจ่ายให้กับทนายและค่าธรรมเนียมในการจดจำนองค้ำประกัน ระบุหากสำเร็จจ่ายเพิ่มอีก 7% รวมเบ็ดเสร็จคิดค่าหัวคิวกว่า 100 ล้านบาท

โดยพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ที่มีอดีตผู้บริหารไอเฟคอยู่เบื้องหลังนั้น จะเริ่มจากเข้ามาตีสนิทเพื่อติดต่อ พร้อมกับพาไปพบคนหนึ่งที่อ้างตัวว่า สามารถไปเจรจากับอดีตผู้บริหารไอเฟคให้ยินยอมเอาโรงแรมดาราเทวีมาค้ำประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ถือหุ้นกู้ไอเฟค เป็นเพียงเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ และไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นบริษัทหลานของไอเฟค ที่มีบริษัทลูกของไอเฟค คือบริษัท ICAP เป็นเจ้าของโรงแรมดาราเทวี และบริษัทไอเฟคได้ให้เงินกู้แก่บริษัท ICAP ไปซื้อโรงแรมดาราเทวี

ขณะที่ปัจจุบัน โรงแรมดาราเทวีติดจำนองกับบริษัทโกลบอลวัน ที่อดีตผู้บริหารไอเฟคได้ฟ้องร้องต่อศาลว่าเป็นหนี้ปลอม อีกทั้งโฉนดของโรงแรมดาราเทวี ทางบริษัท ICAP ได้เก็บรักษาไว้แทนเจ้าหนี้ร่วม หากเอาออกมาให้อดีตผู้บริหารไอเฟคทำนิติกรรมจะถูกฟ้องเป็นคดีอย่างแน่นอน

นอกจากนี้โรงแรมดาราเทวีถูกเจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอยู่หลายราย หากนำโฉนดที่ดินมาทำนิติกรรมจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องในคดีอาญา เหตุร่วมกันโกงเจ้าหนี้ และฟ้องเพิกถอนนิติกรรม ซึ่งการนำทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี ไปทำนิติกรรม จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นอกจากนี้การทำนิติกรรมดังกล่าวจะเป็นการทำให้เจ้าหนี้ที่ฟ้องร้องคดีเสียเปรียบ ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ภายในระยะ เวลา 1 ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และมาตรา 238

ผู้ถือหุ้นต้องการให้ กระทรวงพาณิชย์ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหานี้โดยตรง มีมาตรการที่เด็ดขาดลงโทษผู้บริหารที่ยืดเวลาไม่ให้เกิดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ทั้งนี้ผู้ถือหุ้น IFEC ร้องเรียนที่ ก.ล.ต. 4 ครั้ง กระทรวงพาณิชย์ 2 ครั้ง สำนักงานกฤษฏีกา และบริษัท IFEC และเป็นปัญหามากว่า 1 ปี 6 เดือนมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมและแจ้งกับทางผู้ถือหุ้นเพียงว่ากำลังดำเนินการอยู่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของวงการในตลาดหลักทรัพย์ และนักลงทุนในไทย เป็นอย่างมาก เมื่อนักลงทุนที่เข้ามาร่วมลงทุนแต่กลับต้องได้รับผลกระทบโดยที่ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเอง ทั้งที่มีหน่วยงาน กำกับหลักทรัพย์เข้ามาดูแล แต่ไม่สามารถทำอะไรได้

ทั้งนี้ทางผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องหน่วยงานรัฐที่ยังเพิกเฉยโดยจะส่งเรื่องฟ้องไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้พิจารณาถึงหน่วยงานที่ไม่ดำเนินการทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 100,000 คน รวมมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท