สงครามการค้ารอบใหม่ไม่สะเทือนไทยถ้าจีนไม่เดือดร้อน

11 มิ.ย. 2561 | 05:11 น.
ในเวทีผู้นำกลุ่ม G7 ที่แคนาดา วันที่ 8-9 มิถุนายน วาระการประชุมหลัก มุ่งไปที่ประเด็น สงครามทางการค้าและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจยุโรปหลังความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เพิ่มเติมจากทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

[caption id="attachment_287516" align="aligncenter" width="335"] JITTIPOL จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

“จิติพล  พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) มาอัพเดตมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สงครามการค้ารอบนี้ หากไม่มีปัญหาใดๆที่จีนต้องเดือดร้อน ก็จะไม่มีผลกระทบต่อไทย โดยเห็นได้จากแนวโน้มการส่งออกยังเกาะกลุ่มในตลาดหลักทั้ง จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น  มาเลเซีย เวียดนามและออสเตรเลีย และรายการสินค้าไม่เกี่ยวกับสินค้าที่ถูกกีดกันอย่าง อะไหล่รถยนต์  รถยนต์  คอมพิวเตอร์  ยาง หรืออัญมณี

แต่แนวโน้มการนำเข้า ยังน่ากังวล จากราคานํ้ามันดิบในระยะกลางหรือระยะยาวที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากที่ตลาดคาดว่า ราคาจะทรงตัวอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งหากราคานํ้ามันหลุดกรอบอาจทำให้ไทยเกินดุลการค้าแคบลงเรื่อยๆ และหากขาดดุลการค้า อาจกดดันอัตราเงินเฟ้อให้ขยับขึ้น ขณะที่รายได้ประชาชนยังอยู่ในระดับตํ่า โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเหล่านี้อาจกดดันภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ โดยเฉพาะหากบริหารจัดการค่าเงินไม่ดี

mp23-3372-a

ซึ่งความกังวลต่อทิศทางเงินบาท ยังขึ้นกับปัจจัยดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีโอกาสกลับมาอ่อนค่า จากงบประมาณปลายปีนี้ ที่อาจจะขาดดุลประมาณ 3-4% บวกการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจดันรายจ่ายภาครัฐให้สูง  ทำให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งเงินหยวนทรงตัว โดยเห็นได้จากเงินเยนแข็งค่าขึ้น 2.5% ขณะที่เงินบาทแข็งค่า 1.8% ริงกิตแข็งค่า 1.7% และหยวนแข็งค่า 1.5% โดยไตรมาส 3-4 อาจเห็นเงินบาทอยู่ที่ 31-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯทิศทางด้วยปัจจัยเงินหยวนแข็งค่าและดอลลาร์สหรัฐฯอ่อน

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น แนวโน้มเงินไหลออกระยะยาว น่าจะน้อย หากเทียบรายได้ที่จะกลับเข้ามาจากการท่องเที่ยว โดยทั้งปีนี้ ประเมินเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนราว 1 แสนล้านบาท  จากปัจจุบันที่เงินไหลออกแล้ว 1.3 แสนล้านบาท แม้จะมีแรงซื้อกลับเข้ามา แต่กระแสลงทุนในหุ้นปีนี้ให้นํ้าหนักในหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งเมืองไทยหุ้นหมวดเทคโนโลยีมีน้อยมาก ส่วนตลาดตราสารหนี้มีแรงซื้อกลับเข้ามาประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเงินบาทแข็งค่า ก็มีโอกาสที่เงินจะไหลเข้าทั้งปี 1-2 แสนล้านบาท

ส่วนการแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มเติม (Search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่า “จิติพล” ระบุว่าไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย เพราะหากดูแนวโน้มการออม จะพบว่าเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งเงินฝาก ยอดเงินลงทุนในตลาดหุ้น เงินลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวและกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (LTF/RMF)และ เงินลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign investment fund หรือ FIF)ทั้งหมดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ว่า ประชาชนคนไทยหันมาออมเพิ่มขึ้น

“สถานการณ์การออมของคนไทยแตกต่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับภาระหนี้ครัวเรือน แม้ตัวเลขจะยังอยู่ในระดับสูง แต่หากเทียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% หากสามารถบริหารผลตอบแทนในอัตราที่ดีบนความเสี่ยงที่บริหารจัดการได้สะท้อนภาวะการเป็นหนี้แล้ว ‘คุ้ม’ ”

                     หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,372 วันที่ 7- 9 มิถุนายน 2561

e-book-1-503x62-7