4 ราย รุมสกรัม 'เชฟรอน' ชิงประมูลปิโตรเลียม!

03 มิ.ย. 2561 | 13:39 น.
030661-2031

รุมสกรัม 'เชฟรอน' ชิงแหล่งเอราวัณ ... โททาลกับ ปตท.สผ. แข่งเดือด! กดราคาก๊าซต่ำกว่า 214 บาทต่อล้านบีทียู แน่ หวังนั่งแท่น Operate แหล่งปิโตรเลียมใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่ ภาครัฐกันพลาด! ปตท.สผ. แพ้ประมูล กำหนดเงื่อนไขให้เข้าถือหุ้นได้ในสัดส่วน 25%

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประกาศผลผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท Chevron Thailand Holding Ltd. , บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited , บริษัท MP G2 (Thailand) Limited , บริษัท Total E&P Thailand , บริษัท OMV Aktiengesellschaft ขณะที่ แปลง G2/61 (บงกช) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ Chevron Thailand Holding Ltd. , บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited , บริษัท MP L21 (Thailand) Limited , บริษัท OMV Aktiengesellschaft


TP09-3342-1A

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุในครั้งนี้ จะเห็นว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลมีการวางแผนพอสมควรในการช่วงชิงแหล่งก๊าซเอราวัณเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดในไทย และยังมีปริมาณสำรองจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา แหล่งเอราวัณ (บี10-13) มีจำนวนหลุมเปิดผลิต 833 หลุม มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ 1,316 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในปี 2560 จ่ายค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ 275 ล้านบาท ขณะที่ แหล่งบงกช (บี15-17) มีขนาดเล็กกว่ามาก ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตก๊าซ 908 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีจำนวนหลุมที่เปิดผลิต 187 หลุม จ่ายเงินค่าภาคหลวง 147 ล้านบาท

โดยเฉพาะ บริษัท โททาลฯ ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับ ปตท.สผ. ในแหล่งบงกช ได้แยกออกไปประมูลในแหล่งเอราวัณของเชฟรอน เพราะเห็นว่า หากร่วมประมูลแหล่งบงกชด้วยแล้ว โอกาสที่จะชนะ ปตท.สผ. ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีภาครัฐถือหางอยู่ และเห็นว่าจากการร่วมงานที่ผ่านมา ปตท.สผ. น่าจะเสนอราคาก๊าซในระดับต่ำได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เอ็มพีฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันอันดับ 7 ของโลก และได้สัมปทานในไทยในแหล่งมโนราห์ นงเยาว์ และจัสมิน รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ของออสเตรีย มียอดขายทั้งกลุ่มรวมกว่า 2 หมื่นล้านยูโร และมีโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง และโททาล เอง ต่างหวังที่จะไปชิงการประมูลในแหล่งเอราวัณมากกว่าแหล่งบงกช


apptp8-3169-a

"ผู้ประกอบการที่ร่วมประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแหล่งเอราวัณ เนื่องจากมีขนาดใหญ่และปริมาณสำรองยังเหลืออีกมาก การที่โททาลแยกตัวออกมาจาก ปตท.สผ. เพื่อเป็นการหลีกทางให้ เพราะไม่ต้องการแข่งกันเอง หากแยกกันประมูล โอกาสที่รายใดรายหนึ่งจะชนะประมูลก็มีโอกาสสูงกว่า และน่าจะเสนอราคาก๊าซฯ ได้ต่ำกว่า 214.26 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ซึ่งมีเงินทุนหนาและประสบการณ์ด้านขุดเจาะน้ำมันและก๊าซฯ หากต้องการเป็นผู้ชนะจะต้องเสนอ ราคาขายก๊าซฯ ในราคาที่ต่ำกว่านี้ด้วย เพราะพิจารณาผู้ชนะจะให้น้ำหนักด้านนี้ถึง 65% หากเชฟรอนต้องการ Operate แหล่งเอราวัณต่อไป ก็ต้องเสนอราคาให้ต่ำที่สุด"

นอกจากนี้ จะต้องเสนอโบนัสในอัตราที่แข่งขันกับรายอื่น ๆ โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท เสนอโบนัสการผลิตในอัตราที่แข่งขันกับรายอื่น ๆ มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 175 ล้านบาท ในแต่ละช่วงของปริมาณการผลิตและขายสะสม เมื่อมีปริมาณการผลิตและขายปิโตรเลียมสะสมที่ 100 , 200 และ 300 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ การเสนอเงินอุดหนุนเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทยในอัตราไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านบาทต่อปี และผลประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ตามที่ผู้ประมูลจะเสนอ เช่น ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม เป็นต้น โดยอาจเสนอเป็นจำนวนเงินหรือระบุมูลค่าเทียบเท่า โดยเสนอชำระเป็นครั้งเดียวหรือรายปีตลอดอายุสัญญา


TP8-3340-A

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับ ปตท.สผ. แม้ว่าจะแพ้การประมูลทั้ง 2 แหล่ง ก็ตาม เนื่องจากในทีโออาร์มีเงื่อนไขกำหนดให้หระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแต่ละแหล่งได้ ในสัดส่วน 25% ซึ่งเท่ากับว่า กระทรวงพลังงานจะมอบสิทธิให้ ปตท.สผ. เข้าถือหุ้นทั้ง 2 แหล่งนี้ หากแพ้การประมูล เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการประมูลในแหล่งก๊าซภูฮ่อม จ.อุดรธานี มาแล้ว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,370 วันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ปตท.-เชฟรอน" หืดจับ! ชิงปิโตรฯ
ประมูลปิโตรฯ เดือด! ปตท. ชน 'เชฟรอน'


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว