"นิคมอีอีซี" แข่งเดือด ไทยเบคก้าฯทุ่มหมื่นล้านลุยเฟส 2 - จีบจีนตั้งมหาวิทยาลัย

13 มิ.ย. 2561 | 11:17 น.
นิคมฯอุตสาหกรรมแข่งเดือดรับ พ.ร.บ.อีอีซีมีผลบังคับใช้ “ไทยเบคก้า” เตรียมทุ่มหมื่นล้านขยายการลงทุนเฟส 2 พลิกโฉมจากนิคมอุตสาหกรรมยางพารา สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของรัฐบาล พร้อมผนึกจีน-ไทย ตั้งมหาวิทยาลัยป้อนบุคลากรอีอีซี

จากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี(ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา)แล้ว ยังสร้างความคึกคักให้กับนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ในการแข่งขันดึงการลงทุน ซึ่ง ณ เวลานี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ได้ประกาศเขตอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วจำนวน 21 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 86,775 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ลงทุน 28,666 ไร่ คาดรองรับวงเงินลงทุนได้กว่า 1.31 ล้านล้านบาท

[caption id="attachment_289646" align="aligncenter" width="346"] หลักชัย  กิตติพล หลักชัย กิตติพล[/caption]

นายหลักชัย  กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง อ.เมือง จ.ระยอง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้ทำเรื่องเพื่อขอรับรองประกาศเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนของ กนอ.แล้วคาดจะได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ ขณะที่อยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี และอินเดียรวมกว่า 10 รายเพื่อดึงมาลงทุนในเฟส 1 พื้นที่ 2,200 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสร้างรายได้ 1,500 ไร่ ก่อนหน้านี้ขายพื้นที่ได้แล้ว 700 ไร่ มีนักลงทุนจากจีนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพาราประเภทยางล้อรถยนต์ ที่นอน หมอนยางพารา และไอนํ้าอุตสาหกรรมได้เข้ามาลงทุนแล้ว 4 ราย และกำลังจะลงทุนอีก 1 รายเม็ดเงินลงทุนรวมราว 31,500 ล้านบาท(ดูกราฟิกประกอบ)  ส่วนพื้นที่เหลืออีกราว 800 ไร่ คาดจะสามารถดึงการลงทุนได้เต็มพื้นที่ภายในปลายปีนี้ TP11-3371-A

“การแข่งขันธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี นอกจากราคาที่ดินแล้ว ส่วนใหญ่จะชูจุดขายเรื่อง “ชัยภูมิ” เช่นอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา การคมนาคมขนส่งสะดวก ซึ่งเราก็เช่นเดียวกัน แต่ยังชูจุดขายเป็นนิคมที่รองรับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดีมีแผนพัฒนานิคมในเฟสที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปลายปีนี้”

สอดคล้องกับนายริยงค์  กิตติพล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยเบคก้าฯที่เผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนในเฟส 2 ซึ่งได้เตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้วประมาณ 2,000 ไร่ในพื้นที่อยู่ติดกันกับเฟสแรก ในเฟส 2 จะมุ่งเน้นรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของอีอีซี ซึ่งพื้นที่จังหวัดระยองรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน  อุตสาหกรรมไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

สำหรับเฟส 2 คาดจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การตั้งศูนย์การค้าและพื้นที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้บริหารมหาวิทยาลัยชื่อดังจากจีน และมหาวิทยาลัยของไทย เพื่อร่วมมือกันในการตั้งมหาวิทยาลัย หรือเทรนนิ่งสกูล เพื่อสร้างบุคลากรรองรับความต้องการด้านแรงงานในพื้นที่อีอีซีซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดมากแต่เบื้องต้นเตรียมพื้นที่รองรับแล้ว200-300 ไร่

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,371 วันที่ 3-6 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7