เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | สิ่งที่ AI ทำไม่ได้

27 พ.ค. 2561 | 14:36 น.
270561-2128

15 มี.ค. 2016 ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ชื่อ Alpha Go ซึ่งประกอบด้วยชิปประมวลผล (CPU) 1,920 ตัว และชิปกราฟิก (GPU) 280 ตัว สามารถเอาชนะผู้เล่นที่เป็นมนุษย์แชมป์โลกโกะ (หมากล้อม) ชาวเกาหลีนาม Lee Sedol ซึ่งมีฝีมือระดับสูงที่สุดของเกมโกะที่ระดับ 9 ดั้ง ได้ต่อกันถึง 5 เกมรวด จากการแข่งขันต่อเนื่องกันในวันที่ 9, 10, 12, 13 และ 15 มี.ค. 2016 ในกรุงโซล โกะ คือ เกมหมากกระดาน ที่มีความเป็นไปได้ในการเดินหมากถึง 2x10,170 รูปแบบในการเดินหมาก นับเป็นเกมที่ใช้วิธีคิดที่ซับซ้อนในการรุกและรับ เพื่อได้รับชัยชนะที่มีประวัติศาสตร์การเล่นต่อเนื่องมาตลอด 2,500 ปี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AI ชนะ มาจาก 2 เหตุผลหลัก นั่นคือ Alpha Go ได้เรียนรู้ในรูปแบบของ Machine Learning ในการวิเคราะห์รูปแบบการเล่นถึง 2x10,170 รูปแบบ (ตัวเลข 2 แล้วต่อด้วยคำว่าล้านอีก 28 ครั้ง) ด้วยความเร็วแบบที่มนุษย์ไม่มีทางทำได้ และวิเคราะห์ออกมาเป็นการวางหมากในแต่ละกระดาน และเหตุผลที่ 2 นั่นคือ AI สามารถตัดสินใจบนหลักตรรกศาสตร์ โดยไม่เอาความเครียด ความกดดัน ความกลัวการพ่ายแพ้ ทำให้ทุกครั้งที่เดินหมากเป็นไป เพราะการวิเคราะห์ความน่าจะเป็น ความเป็นไปได้ ในขณะที่มนุษย์ยิ่งเล่นก็ยิ่งควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้สูญเสียความรอบคอบในการวิเคราะห์และวางหมากไปในที่สุด


07-3369

คำถามที่สำคัญที่สุด คือ แล้วมนุษย์จะแข่งขันกับเครื่องจักรในลักษณะนี้ได้อย่างไร โอกาสในการวิเคราะห์ประสบการณ์จำนวนเป็นหลาย ๆ ล้านครั้ง ที่มนุษย์อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เป็นหลาย ๆ สิบปี แต่คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ภายในไม่กี่นาที แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อยอดได้ในเวลาอีกเพียงไม่กี่วินาที

ผู้บริหารไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีหลาย ๆ คน ที่ผมมีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา ทำให้ผมรู้ว่า พวกเขาไม่กลัวคอมพิวเตอร์ครับ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพวกเขามีแนวคิดร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ พวกเขาเข้าใจวิธีคิดและข้อจำกัดของ AI ครับ พวกเขาอาจจะใช้คำอธิบายออกมาในหลาย ๆ รูปแบบ แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่าย อาจจะต้องขอยกตัวอย่างจากศาสตร์การบริหารธุรกิจ ที่นักธุรกิจในญี่ปุ่นจำนวนมากเรียนรู้กันครับ นั่นคือ คัมภีร์ 5 ห่วง (Go-Rin-No-Sho) ซึ่งแต่งโดยปรมาจารย์นักดาบของญี่ปุ่น นาม Miyamoto Musashi

 

[caption id="attachment_284944" align="aligncenter" width="347"] ©Woodblock print by Utagawa Kuniyoshi. ©Woodblock print by Utagawa Kuniyoshi.[/caption]

มูซาชิเป็นนักรบซามูไรที่อยู่ในช่วงเวลาที่ยุ่งเหยิงที่สุดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นครับ นั่นคือ ในช่วงสงครามของการรวมชาติระหว่างตระกูลขุนนางทางฝั่งตะวันตก ซึ่งนำโดย โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะริ (Toyotomi Hideyori) ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับตระกูลขุนนางทางฝั่งตะวันออก ซึ่งนำโดย โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ (Tokugawa Ieyasu) โดยสงครามครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ทุ่งเซะกิงะฮะระ (Sekigahara) แล้วหลังจากนั้น อิเอะยะซุจะเป็นโชกุนที่ปกครองญี่ปุ่นด้วยความสงบต่อไปอีกเป็นเวลายาวนานกว่า 250 ปี

แน่นอนว่า ในช่วงเวลาที่สงบ นักรบซามูไรที่ไร้เจ้านายที่เราเรียกว่า โรนิน ก็ต้องหาเจ้านายใหม่ วิธีการหาเจ้านายใหม่ของเหล่าโรนินเหล่านี้ คือ การท้าดวลเพลงดาบกับสำนักต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองถูกจับตามองจากขุนนางใหญ่ ๆ ที่ต้องการซามูไรในสังกัด มูซาชิก็เป็นหนึ่งในโรนินจากทุ่งเซะกิงะฮะระ เขาฝึกฝนเพลงดาบด้วยตนเองจนเชี่ยวชาญและต่อสู้กับสำนักต่าง ๆ โดยไม่เคยพ่ายแพ้เลยแม้สักครั้ง ตลอดการท้าดวลกว่า 60 ครั้งชั่วชีวิตของเขา และ 7 วันสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิต เขามอบตำรา คัมภีร์ 5 ห่วง ให้กับศิษย์ในสำนัก และตำราเล่มนี้กลายเป็นหนึ่งในตำรายุทธศาสตร์การบริหารที่ผู้บริหารญี่ปุ่นนิยมอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่ง


07-3369-25

คัมภีร์ 5 ห่วง คือ ตำรา 5 เล่ม ที่สร้างสุดยอดนักดาบ ที่ในบั้นปลายเป็นทั้งกวี จิตรกร ช่าง และปราชญ์ เขาอ้างอิงเนื้อหา 4 เล่มแรก จากธาตุทั้ง 4 ตามความเชื่อแบบเอเชีย และสามารถวิเคราะห์ในทางธุรกิจ ได้ดังนี้

1.คัมภีร์แห่งดิน หมายถึงธุรกิจต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่แข็งแกร่ง (Core Competency) จากความชำนาญของเจ้าของ

2.คัมภีร์แห่งน้ำ นั่นหมายถึง ธุรกิจที่แข็งแกร่งก็ต้องรู้จักที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ดุจดั่งน้ำที่ปรับรูปทรงได้ตามภาชนะสิ่งแวดล้อม

3.คัมภีร์แห่งไฟ หมายถึง แข็งแกร่ง ปรับเปลี่ยนได้คล่องแคล่ว และต้องสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ด้วย ไฟจึงหมายถึงวิถีแห่งชัยชนะที่จะได้มาจากการรู้จักวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ของคู่ต่อสู้

4.คัมภีร์แห่งลม หมายถึง การรู้จักฝั่งตรงข้าม เช่น รู้จักความต้องการของลูกค้า เหมือนลมที่มองไม่เห็น แต่รู้ว่ามีอยู่ เหมือนผู้ผลิตมักจะมองข้ามความต้องการของลูกค้า มุ่งแต่วางแผนเฉพาะด้านอุปทาน จนลืมอุปสงค์ เพราะมองไม่เห็นทั้งที่สัมผัสได้

คำถาม คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ไปแล้ว อะไรคือ คัมภีร์เล่มที่ 5 และเล่มนี้ล่ะที่จะทำให้มนุษย์ชนะ AI มูซาชิเรียกคัมภีร์เล่มที่ 5 ว่า "ความว่างเปล่า" ครับ ความว่างเปล่า หรือ สุญญตา คือ การรู้จักปล่อยวาง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญทั้งของพระพุทธศาสนาและวิถีแห่งเซน นั่นคือ ธุรกิจบางอย่างแม้จะทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน บางครั้งกลยุทธ์ที่ดีที่สุด คือ ต้องหยุด และเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ตนเองยังแข็งแกร่ง การทนทู่ซี้ทำในสิ่งที่ตนเองไม่สามารถแข่งขันได้ ก็จะมีแต่ความพ่ายแพ้


tp7-3274-a

และนี่คือ สุดยอดกลยุทธ์ที่คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพราะมันถูกเขียนขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน และมันจะอดทนทำสิ่งนั้น ๆ ต่อไปเป็นแสน ๆ รอบ ล้าน ๆ รอบ แม้จะไม่สำเร็จแน่นอน คนสู้คอมพิวเตอร์ในเรื่องความอดทนเช่นนี้ไม่ได้ แต่คนเลือกที่จะหยุดแล้วไปทำอย่างอื่น ๆ ได้ ในขณะที่ AI จะหมุนวนและทำเรื่องเหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ

คำถามสำคัญของผู้ประกอบการ คือ เมื่อไรจะรู้จักหยุดและพอ และเลือกทำในสิ่งที่ควรทำด้วยความรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งแน่นอนคอมพิวเตอร์ก็ไม่รู้จักรักและภูมิใจในสิ่งที่ทำอีกด้วย ตัวอย่างหนึ่งของผู้ประสบความสำเร็จจากวิธีคิดแบบนี้ คือ Kazuo Inamori ผู้ก่อตั้งบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ Kyocera ที่สร้างธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ KDDI และเป็นผู้ฟื้นฟูกิจการที่ขาดทุนเรื้อรังมหาศาลของสายการบิน JAL ได้ ภายใต้การบริหารของเขาเพียง 2 ปีเท่านั้น เคล็ดลับ คือ เขาทำในสิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ นั่นคือ หยุด คิดวิเคราะห์ช้า ๆ และมีความสุขและภูมิใจในสิ่งที่ทำ


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดเครือข่ายอัจฉริยะ ผ่านบล็อกเชน-AI
"คมนาคม" เจรจา Siemens ลดค่าซ่อมบำรุงตัวรถของ Airport rail link


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว