บสย.ลุยค้ำสินเชื่อ 1.1 แสนล้าน

29 พ.ค. 2561 | 08:35 น.
บสย.เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อ 4 เดือนแรกพุ่งแตะ 3 หมื่นล้านบาท คาดไตรมาส 2-3 ยอดทะลักตามสินเชื่อโต ทั้งปีโกยตามเป้า 1.1 แสนล้านบาท ส่วน NPG เพิ่มเล็กน้อยอยู่ที่ 13.4% พร้อมเดินหน้าค้ำธุรกิจลีสซิ่ง เน้นรถเชิงพาณิชย์ให้วงเงินสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย กดค่าธรรมเนียม 1% ชี้มีลูกค้าสนใจ 2 ราย

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การค้ำประกันสินเชื่อในช่วง 4 เดือนแรกยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในแง่ยอดค้ำประกันสินเชื่ออยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ 3.05 หมื่นล้านบาท ส่วนในแง่จำนวนยอดหนังสือค้ำประกันเกินเป้าหมายทำได้อยู่ที่ 4 หมื่นราย จากเป้าหมายยอดค้ำประกันสินเชื่อทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าในช่วงครึ่งแรกน่าจะมียอดค้ำประกันสินเชื่ออยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท และช่วงครึ่งหลังของปีอีก 5.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาระคํ้าประกันของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPG) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 13% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 13.4%

[caption id="attachment_284500" align="aligncenter" width="400"] วิเชษฐ วรกุล วิเชษฐ วรกุล[/caption]

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) น่าจะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้น แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 สินเชื่ออาจจะไม่ขยายตัวมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฤดูกาล ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความเป็นเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ทำให้มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดี จะเริ่มเห็นสัญญาณการขอสินเชื่อทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเป็นผลดีต่อการเติบโตของยอดค้ำประกันจะเร่งตัวขึ้น

สำหรับสัดส่วนยอดค้ำประกันสินเชื่อส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะเป็นธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และทหารไทย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อค่อนข้างเยอะและใช้บสย.เข้าไปช่วยค้ำประกัน ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

ขณะที่ความคืบหน้าหลังจากมีการแก้กฎหมายให้บสย.สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non Bank นั้น คาดว่าจะเริ่มทำธุรกรรมได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ หรือในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งหลังจาก บสย.ส่งทีมงานเดินสายเข้าไปพูดคุยกับบริษัทเช่าซื้อลีสซิ่งถึงรูปแบบการค้ำประกันพบว่ามีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 2 รายด้วยกัน โดยลูกค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับการพิจารณาจากบริษัทเช่าซื้อก่อน และบสย.จะมีการตรวจเช็กความถูกต้องเพิ่มเติมประมาณ 6-7 ข้อ แต่จะไม่วิเคราะห์ลูกค้าซํ้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับการอนุมัติให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รูปแบบการค้ำประกันเบื้องต้น บสย.จะเน้นค้ำประกันธุรกรรมรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถตู้ รถบัส รถทัวร์ และกลุ่มเครื่องจักร-อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น และเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกัน จึงให้วงเงินการค้ำประกันสูงสุดอยู่ที่ 40 ล้านบาท โดยการค้ำประกันอาจจะเป็นแบบแพ็กเกจที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ ขณะที่อัตราการคิดค่าธรรมเนียมจะน้อยกว่าการค้ำประกันสินเชื่อทั่วไปที่คิดอยู่ 1.75% ต่อปี ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 1% ส่วนวงเงินทดลองเบื้องต้นที่อยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมากก็สามารถขยายวงเงินเพิ่มเติมได้

“การค้ำประกันเช่าซื้อ และลีสซิ่ง จะมีความแตกต่างไปจากการค้ำประกันสินเชื่อ เพราะจะมีหลักประกัน แต่ก็เป็นเรื่องใหม่ซึ่งเราต้องเดินสายทำความเข้าใจกับลูกค้าถึงรูปแบบค้ำประกัน แต่น่าจะทันในไตรมาสที่ 3 นี้ ส่วนค่าธรรมเนียมกำลังเจรจาอยากเห็นอยู่ที่ 1% และวงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาท”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,369 วันที่ 27-30 พฤษภาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว